รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
รายงานการศึกษาสูตรวัคซีนสลับของไทย รอการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์แล้ว สูตร SV-AZ ดีกว่า SV-SV และดีเทียบเท่า AZ-AZ
จากความรู้และประสบการณ์การฉีดวัคซีนประเภทต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จะพบมีการฉีดวัคซีนที่สลับบริษัท หรือสลับเทคโนโลยีมาโดยตลอด ด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ อาทิเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่คนจำนวนมากฉีดกันทั่วโลกเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ จะมีวัคซีนหลากหลายบริษัท และหลากหลายเทคโนโลยี แล้วก็มีการฉีดกันมาโดยสม่ำเสมอ ที่เกิดการสลับบริษัทและเทคโนโลยี ก็ไม่พบผลข้างเคียงที่มากกว่าปกติ และยังคงมีประสิทธิผลในการป้องกันโรคดี เช่นเดียวกับวัคซีนอีกหลากหลายชนิด ที่ฉีดในเด็กช่วงแรกเกิดถึงสี่ขวบปีแรก นับ 10 โดสต่อคน ก็จะมีหลายครั้งหลายหนที่เกิดมีวัคซีนสลับบริษัทหรือสลับเทคโนโลยี ด้วยเหตุปัจจัยจำเป็นต่างๆกัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ทำได้ ก็ยังคงยึดหลักฉีดวัคซีนของบริษัทเดิมเทคโนโลยีเดิมเป็นเบื้องต้น
วัคซีนโควิด-19 เป็นวัคซีนใหม่ ยังไม่มีข้อมูลเดิมมารองรับการฉีดวัคซีนสลับบริษัทหรือสลับเทคโนโลยี แต่ก็มีเหตุจำเป็นในหลายประเทศเช่น เยอรมัน อังกฤษ เกาหลีใต้ ที่ทำให้เกิดการฉีดวัคซีนสลับเทคโนโลยีหรือสลับบริษัทขึ้น ซึ่งจากการติดตามผล ก็เรียบร้อยดี ทั้งเรื่องผลข้างเคียง และประสิทธิผล
ส่วนในประเทศไทยเรา เริ่มต้นด้วยการฉีดวัคซีน Sinovac เป็นหลักแล้วตามด้วย AstraZeneca ซึ่งเดิมก็ยึดหลักสากลทั่วไปคือ ฉีดวัคซีนเข็มหนึ่งและเข็มสองเป็นบริษัทเดียวกัน
แต่ก็มีกรณีเกิดเหตุจำเป็น ต้องทำให้สลับวัคซีน เช่น ฉีดเข็มหนึ่งแล้วมีอาการผลข้างเคียง หรือเข็มสองวัคซีนบริษัทเดิมมีไม่เพียงพอ จึงทำให้เกิดมีข้อมูลของการฉีดวัคซีนสลับ ระหว่าง Sinovac และ AstraZeneca
ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษารวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนสูตรสลับดังกล่าว จนได้จำนวนที่เพียงพอในเบื้องต้น ที่จะเสนอตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ได้ และขณะนี้ได้ไปรอตีพิมพ์แล้ว
โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจคือ
1.คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca เป็นกรณีฉุกเฉินได้ในต้นปี 2564 โดย Sinovac ให้ฉีดได้ในอายุ 18-59 ปีในช่วงแรก และปรับเป็นมากกว่า 59 ปีได้ เมื่อมีรายงานรองรับ
ส่วนวัคซีนของ AstraZeneca ให้ฉีดตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไปได้
2.วัคซีน Sinovac และ AstraZeneca ซึ่งเข้ามาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือกุมภาพันธ์ 2564 แต่ปริมาณของ Sinovac จะมีจำนวนมากและสม่ำเสมอ ส่วนของ AstraZeneca จะเริ่มมีปริมาณที่มากเพียงพอในเดือนมิถุนายน 2564 จึงทำให้มีเหตุจำเป็น ที่จะต้องฉีดวัคซีนสลับในบางราย
3.จากการเก็บข้อมูลพบว่า
ในกลุ่มตัวอย่างที่ฉีดวัคซีน SV-AZ มีจำนวน 54 ราย อายุเฉลี่ย 38 ปี
ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน SV-SV จำนวนตัวอย่าง 80 ราย อายุเฉลี่ย 42 ปี
ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีน AZ-AZ จำนวนตัวอย่าง 80 ราย อายุ 48 ปี
ทำการเจาะหาระดับภูมิคุ้มกันพบว่ากลุ่มที่หายจากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ มีระดับภูมิคุ้มกันที่ 78 U/mL (52.8 ถึง 115.8)
กลุ่มที่ฉีด Sinovac สองเข็มมีระดับภูมิคุ้มกัน 96.47 U/mL (16.1 ถึง 122.1)
กลุ่มที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca สองเข็มระดับภูมิคุ้มกัน 818 U/mL (662.5 ถึง 1010)
และกลุ่มที่ฉีด Sinovac ตามด้วย AstraZeneca ระดับภูมิคุ้มกัน 797 U/mL (598.7 ถึง 1062)
จึงสรุปได้ว่า การฉีดวัคซีนสูตรสลับระหว่าง Sinovac และ AstraZeneca จะมีระดับภูมิคุ้มกันมากกว่าระดับภูมิคุ้มกันในผู้ที่หายป่วยจากโควิดตามธรรมชาติ และมากกว่าการฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็ม โดยอยู่ในระดับเทียบเท่ากับการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม
การฉีดวัคซีนสูตรสลับดังกล่าว จึงถือว่ามีระดับภูมิคุ้มกันที่ดี และสามารถนำไปเป็นตัวเลือกในการพิจารณากำหนดการฉีดวัคซีนต่อไป
การศึกษานี้มีข้อจำกัดในบางประเด็นได้แก่
1.ไม่ได้แยกการตรวจระดับภูมิคุ้มกันว่าเป็นแบบใด ( IgM / IgG )
2. ไม่ได้ดูเรื่อง T-cell
3.ไม่ได้เจาะจงไปที่ไวรัสสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเป็นการเฉพาะ
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-4 ก.ย. 64 มีการฉีดวัคซีนแล้วจำนวน 35,587,676 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนนวน 25,104,942 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 9,879,371 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 603,363 ราย