นายกฯนัดประชุมศบค.ชุดใหญ่ 10 ก.ย. จับตาเลิกต่อ"พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"

06 ก.ย. 2564 | 05:21 น.

"นายกฯ" เรียกประชุมศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 10 ก.ย.นี้ จับตาเลิกต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กลับไปใช้พ.ร.บ.โรคติดต่อ คุมโควิด-19 แทน

ผู้สื่อข่าวรายงงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เดินทางเข้าปฏิบัติหน้าที่ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยเมื่อเวลา 09.30 น.นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบ Video Conference ที่ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

 มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์  เรียกประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค.ชุดใหญ่ วันที่ 10 ก.ย.นี้คาดการณ์ว่า นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรายงานสถานการณ์การระบาดเชื้อโควิด-19 และประเมินสถานการณ์หลังคลายล็อกกว่า 1 สัปดาห์แล้ว ยังจะมีการพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งมาตรา 5 การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งจะให้สิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน นี้ และรวมถึงมาตรา 9 ซึ่งใช้ออกข้อกำหนดต่างๆ โดยจะกลับไปใช้กฎหมายพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 แทน 


 

ทั้งนี้จะส่งผลให้ ศบค. สิ้นสภาพไปโดยปริยาย และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบตามหน้าที่ปกติโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่1 ตุลาคม นี้ เป็นต้นไป

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศปก.ศบค.) กล่าวว่า เป็นไปได้ที่จะไม่ต่อการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เนื่องจากสถานการณ์โควิดขณะนี้เริ่มทรงตัว ซึ่งปัจจุบันได้รับความร่วมมือจากเอกชนดีพอสมควร และประชาชนก็มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ แม้จะมีบางส่วนไม่ปฏิบัติตามมาตรการก็ตาม แต่ในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ซึ่งหากอยู่ในเกณฑ์นี้ต่อไปหรือดีขึ้นก็น่าจะพิจารณา พ.ร.บ.โรคติดต่อมาใช้ได้ พร้อมย้ำว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ใช่ตัวตัดสินทั้งหมดว่าจะใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น

พล.อ.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นที่ทราบดีว่าสังคมไม่ค่อยสบายใจ แต่ห้วงเวลาที่ผ่านมาก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะใช้เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเท่านั้น แต่สุดท้ายต้องมีวันสิ้นสุด

อย่างไรก็ตามแนวทางทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศบค.และรัฐบาลที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ส่วนการประเมินการออกมาตรการจะมีการคลายล็อคในการประชุมครั้งต่อไปหรือไม่นั้น พลเอกณัฐพลระบุว่า ขณะนี้ขอให้รกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้เสนอมาก่อน เนื่องจาก ต้องฟังนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุขก่อน ที่จะต้องมาหารือร่วมกับกระทรวงอื่น พร้อมย้ำว่าต้องฟังข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก