ผู้ประกัน ม.33 ยื่นสิทธิ์ว่างงานสุดวิสัยได้ รับ 50%ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน

07 ก.ย. 2564 | 06:32 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.ย. 2564 | 18:27 น.

ประกันสังคม ย้ำ ! พร้อมช่วยเหลือ"ผู้ประกันตน มาตรา 33" ที่ได้รับผลกระทบกรณีรัฐสั่งปิดกิจการโดยไม่ได้รับค่าจ้าง สามารถยื่นรับสิทธิประโยชน์ กรณีว่างงานเหตุสุดวิสัยได้

สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผย ผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากรัฐมีคำสั่งปิดสถานที่ หรือประเภทกิจการตามคำสั่งรัฐเป็นการชั่วคราว โดยสำนักงานประกันสังคม พร้อมจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยแก่ผู้ประกันตน       ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันไม่เกิน 90 วัน

ทั้งนี้เงื่อนไขการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย

  • ผู้ประกันตนจะต้องไม่ได้ทำงานจริง ไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างที่รัฐมีคำสั่งปิดที่ทำงาน                
  • ให้นายจ้างยื่นแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบ (สปส.1-10) ในระบบ e-service กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ตามข้อเท็จจริง         

ลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม

นางสาวลัดดา แซ่ลี้ โฆษกสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการอนุมัติจ่ายเงินว่างงานเหตุสุดวิสัย ตามข้อสั่งการของนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เพื่อให้ความช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้ประกันตนมาตรา 33

คุณสมบัติของผู้ประกันตนที่มีสิทธิได้รับเงินกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัย

- ต้องส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือนใน 15 เดือนย้อนหลังก่อนวันที่ว่างงานจากรัฐสั่งปิด  

- ไม่ได้ทำงานเนื่องจากนายจ้างหยุดประกอบกิจการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เนื่องจากทางราชการมีคำสั่ง ให้ปิดสถานที่ หรือสถานประกอบการ และผู้ประกันตนไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น

ทั้งนี้ผู้ประกันตนดังกล่าว มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน             ไม่เกิน 90 วัน ซึ่งขั้นตอนการขอรับสิทธิประโยชน์ให้นายจ้างยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ และรับรองกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยให้ผู้ประกันตน โดยทั้งนายจ้างและผู้ประกันตนไม่ต้องมาที่สำนักงานฯ

โดยสามารถยื่นผ่านทางระบบ e-service และส่งแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส.2-01/7) และสำเนาสมุดบัญชีธนาคารของผู้ประกันตนประเภทออมทรัพย์ เป็นเอกสารส่งให้สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด ที่่สถานประกอบการตั้งอยู่ทางไปรษณีย์แบบลงทะเบียนตอบรับ  นับแต่วันที่บันทึกข้อมูลในระบบ e-service 
 

ทั้งนี้ ขอย้ำว่านายจ้างมีหน้าที่ต้องยื่นแบบรายการแสดงการส่งเงินสมทบ (สปส. 1-10) ส่วนที่ 1 และ ส่วนที่ 2 ทุกเดือน โดยในเดือนที่ไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างตามข้อเท็จจริง ที่มีคำสั่งรัฐสั่งปิดนั้น ในช่องค่าจ้าง และเงินสมทบ ต้องระบุจำนวนค่าจ้างที่จ่ายจริงให้แก่ลูกจ้าง จึงจะได้รับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยตามเงื่อนไขข้างต้น ซึ่งหากลูกจ้างยังได้รับค่าจ้าง จะไม่เข้าเงื่อนไขการจ่ายสิทธิประโยชน์

ทั้งนี้ นายจ้างสามารถนำส่งแบบรายการแสดงการนำส่งเงินสมทบ สปส.1-10 ในระบบ e-service ได้โดยไม่ต้องเดินทางมาติดต่อ       ที่สำนักงานประกันสังคม หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง