กรมอุตุนิยมวิทยา จับตาพายุ 2 ลูก “โกนเซิน” -"จันทู"

08 ก.ย. 2564 | 08:34 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ก.ย. 2564 | 15:43 น.

กรมอุตุนิยมวิทยา จับตาพายุ 2 ลูก พายุโซนร้อน "โกนเซิน"คาดเคลื่อนตัวสู่ทะเลจีนใต้ 9 ก.ย.ส่วนอีกลูกพายุโซนร้อน "จันทู" แนวโน้มเคลื่อนตัวทางเหนือ พร้อมพยากรณ์สภาพอากาศทั่วไทยฝนเพิ่ม และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ทะเลมีคลื่นสูง 2 เมตร

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานความคืบหน้าพายุ 2 ลูก โดยลูกแรกบริเวณตอนกลางประเทศฟิลิปปินส์ คือ พายุโซนร้อน “โกนเซิน” (CONSON) กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย คาดว่าจะเคลื่อนตัวลงสู่ทะเลจีนใต้ในวันที่ 9 กันยายน 2564 และจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำลงสู่อ่าวตังเกี๋ยในช่วงวันที่ 12-13 กันยายน 2564 

 

อีกหนึ่งลูก ในมหาสมุทรแปซิฟิก ชื่อพายุโซนร้อน "จันทู" (CHANTHU) มีแนวโน้มเคลื่อนตัวไปทางเหนือ ทั้งนี้ต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นระยะๆว่าจะมีผลกระทบกับประเทศไทยหรือไม่

 

กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานความคืบหน้าพายุ 2 ลูก

 

ขณะที่สภาพอากาศประเทศไทย เมื่อวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ความกดอากาศที่ระดับน้ำทะเลปานกลาง และลมระดับต่างๆ  เวลา 19.00 น. วานนี้ (7/9/64) ถึง 04.00 น. วันนี้ (8/9/64) ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย 

 

ลักษณะดังกล่าว ทำให้ภาคเหนือ และภาคอีสาน ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง  ต้องระวังฝนตกหนักถึงหนักมาก ในระยะ 1-3 วันนี้ ส่วนเมฆฝนยังเกิดขึ้นตามแนวร่องมรสุม  วิเคราะห์ลมระดับล่างๆ มีกระแสลมไหลเวียนเข้าหากัน (Cyclonic) ปกคลุมบริเวณตอนกลางของประเทศไทย  ระดับบนเป็นลมตะวันออก

ส่วนการพยากรณ์ฝนรวมทุกๆ24 ชม. 10 วันล่วงหน้า (7-17 ก.ย.64) (ระหว่างเวลา 07.00น. - 07.00 น.วันรุ่งขึ้น) จาก ECMWF 2021090712 เบื้องต้นคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 9–10 ก.ย. 64 ร่องมรสุมยังคงพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคอีสาน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุม  ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง 

 

ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคกลาง (รวม กทม.และปริมณฑล) และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้

 

ส่วน 11 – 17 ก.ย. 64 ร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นมาพาดภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน ทำให้ฝนที่ตกหนักบริเวณประเทศไทยมีน้อยลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ทางตอนบน คลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง ในระยะนี้