ดร.สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) เผยว่า ปริมาณฝนที่ตกลงมาใน 7 เดือนแรกของปี ภาพรวมยังคงน้อยกว่าค่าปกติ โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล เหนือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของประเทศสำหรับเดือนสิงหาคม ใกล้จะครบเดือนแล้ว ฝนก็ยังคงน้อยมากๆ
ปริมาณน้ำในเขื่อนก็ยังคงมีน้อย โดยเฉพาะ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำใช้การเพียง 1,634 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อสิ้นสุดฤดูฝนควรควรจะมีน้ำใช้การประมาณ 8,000- 12,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ในตอนเริ่มต้นฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน 2563) น้ำใช้การของ 4 เขื่อนหลักมีเพียง 5,771 ล้านลูกบาศก์เมตร
แต่จากคาดการณ์ในช่วงตั้งแต่เดือนกันยายนไปจนถึงเดือนตุลาคม ประเทศไทยตอนบนจะกลับมามีฝนมากกว่าค่าปกติ และอาจตกหนักมากกว่าปกติทำให้เกิดอุทกภัย แต่ในช่วงนี้จะมีน้ำไหลลงเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเขื่อนจึงจำเป็นต้องเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังมีแนวโน้มจะมีพายุเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย อย่างน้อย 1 ลูก ส่วนราชการจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลัน
แต่ก็จะเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีน้ำเก็บกักในเขื่อนเพิ่มมากขึ้น และเป็นโอกาสอันดีที่ประชาชนจะได้เก็บน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำในพื้นที่และในชุมชน ช่วยลดภาวะน้ำท่วมและเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง “พลิกวิกฤต เก็บน้ำ สร้างอาชีพ” กอบกู้สถานการณ์ฟื้นคืนชีวิต “โควิด ชีวิตต้องรอด”
ส่วนในเดือนพฤศจิกายน “มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ” จะมีกำลังแรงและอาจมีหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามาสู่อ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยได้ จึงควรเตรียมพร้อมรับมือและเก็บน้ำไว้ใช้เช่นเดียวกัน
ด้านดร. รอยล จิตรดอน ประธานกรรมการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า จากข้อมูลปี 2563 พบว่า มีอัตราการย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 (อ้างอิงข้อมูลจาก BOT) อีกทั้งมีแรงงานเผชิญปัญหาไม่มีงานทำและขาดรายได้ประมาณ 4.5 – 5 ล้านคน (อ้างอิงข้อมูลจาก TDRI) อาชีพเกษตรจึงเป็นทางรอดให้ทุกคนมีอยู่มีกิน มีขาย
โดยทุนที่สำคัญที่สุดคือ น้ำ ถ้าเราสำรองน้ำให้พอแรงงานคืนถิ่นจะสามารถประกอบอาชีพเกษตรได้ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมป์ และ สสน. มีตัวอย่างที่ประชาชนลงมือทำเอง สามารถพึ่งพาตนเอง ทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี แก้น้ำท่วม แก้น้ำแล้ง เกิดเป็นเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า น้ำในเขื่อนแปรปรวนมาก ประชาชนจะพึ่งพิงน้ำในเขื่อนอย่างเดียวไม่ได้ และปีหน้ายังมีโอกาสเผชิญปัญหาน้ำแล้งอีก ควรสำรองน้ำในพื้นที่การเกษตรของตนเอง ดักน้ำหลากเข้าเก็บในแหล่งน้ำ
นายจันทร์สุดา กุลสอนนาม เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ บ้านภูถ้ำ-ภูกระแต ตำบลแวงน้อย อำเภอแวงน้อย จังหวัด ขอนแก่น กล่าวว่า เดิมทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ เป็นแรงงานคืนถิ่น แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และถูกโกงค่าแรง เมื่อได้พูดคุยกับครอบครัว ได้เห็นพ่อเข็ม เดชศรี ทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ มีสระน้ำเก็บในแปลง เห็นท่านทำเป็นตัวอย่าง ท่านทำ ท่านรอด ท่านเป็นต้นแบบ
“ด้วยน้ำใจของพ่อเข็มที่เห็นใจว่าเป็นคนในชุมชนเดียวกันได้แบ่งพื้นที่ 5 ไร่ เพื่อให้เป็นพื้นที่ทำกิน ปัจจุบันลงทุนเลี้ยงปลา ปลาหมอ และปลูกพริก มะเขือ แตงกวา มีอยู่มีกิน ไม่เดือดร้อน มีความสุข และไม่คิดกลับไปกรุงเทพแล้วที่บ้านเราฝนไม่ตกมา 4 ปีแล้ว ได้เรียนรู้การกักเก็บน้ำ ต้อนน้ำหลากเข้าสระไว้ใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งกันยายน-ตุลาคมนี้ ฝนจะมาแล้ว เป็นโอกาสดีที่พวกเราจะต้อนน้ำเก็บในแหล่งน้ำของเรา ให้มีเพียงพอใช้ตลอดทั้งปี”
เช่นเดียวกับ นางสาวลลิสสา อุ่นเมือง เครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ตำบลขุนควร อำเภอปง จังหวัดพะเยา เดิมทำอาชีพขายเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เจอวิกฤติโควิด-19 รอบ 3 จึงตัดสินใจกลับบ้านและมองการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงชีพ โชคดีที่สระน้ำที่บ้านมีน้ำเพียงพอสามารถทำการเกษตรได้เลย
อีกทั้งภายในชุมชนยังเป็นตัวอย่างการจัดการน้ำร่วมกัน ฝนนี้เป็นฝนสุดท้ายของปีซึ่งจะเป็นทุนของเราจะต้องเก็บไว้ให้เพียงพอ ตั้งแต่กลับมา หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยและพืชอายุสั้น อาทิปลูกแตงกวา มะระ มะเขือพวงพริก ข้าวสาลี ทำให้มีรายได้ในการขายผลผลิต 5,000 บาท/เดือน จึงมองว่าเกิดรายได้และสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ การกลับบ้านครั้งนี้ พบว่า บ้านเป็นที่พึ่งพิง ได้พบกับความสุขที่แท้จริง