รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ถ้าเลือกจะฉีดวัคซีนแบบ mRNA แล้ว ผู้หญิงควรเลือกฉีดของ Moderna และผู้ชายควรเลือกฉีดของ Pfizer ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
คำถามที่เกิดขึ้นในคนส่วนใหญ่ก็คือ ควรฉีดวัคซีนตัวไหนดี วัคซีนไหนดีกว่าวัคซีนไหน เป็นคำถามชวนปวดหัว เพราะไม่มีคำตอบที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
วัคซีนแต่ละบริษัท ต่างมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไปคนละแบบ
วัคซีนเทคโนโลยี mRNA ภูมิคุ้มกันขึ้นสูง แต่ผลข้างเคียงระยะยาวยังไม่ทราบชัดเจน
วัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตาย ภูมิคุ้มกันขึ้นปานกลาง แต่ผลข้างเคียงระยะยาวทราบจากวัคซีนที่เคยใช้ในอดีตว่าค่อนข้างปลอดภัยดี
วัคซีนเทคโนโลยีไวรัสเป็นพาหะ ผลออกมากลางๆ ทั้งภูมิคุ้มกันและผลข้างเคียง
แต่ในกรณี ถ้าตัดสินใจแล้วว่า จะฉีดวัคซีนเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่ง ด้วยเหตุผลส่วนตัวอะไรก็ตาม ในวัคซีนแต่ละเทคโนโลยี ซึ่งมีบริษัทที่ผลิตมากกว่าหนึ่งบริษัท ตรงนี้อาจจะพอเปรียบเทียบกันได้
ในที่นี้จะลองเปรียบเทียบระหว่างวัคซีนของบริษัท Pfizer กับบริษัท Moderna ซึ่งเป็นเทคโนโลยี mRNA ด้วยกัน เพราะในช่วงนี้ ไทยเราเริ่มมีวัคซีนของ Pfizer เข้ามาแล้ว 1.5 ล้านโดส และกำลังจะเข้ามาอีก 2 ล้านโดส รวมเป็น 3.5 ล้านโดส และก่อนสิ้นปีนี้ จะมีวัคซีน Pfizer ทั้งสิ้น 30 ล้านโดส
โดยจะมีวัคซีน Moderna เข้ามาในไตรมาสสี่ ประมาณ 5 ล้านโดส
จึงควรที่จะลองเปรียบเทียบวัคซีนระหว่างสองบริษัทนี้ เพราะเราจะมีวัคซีนสองบริษัทนี้เป็นตัวเลือกในเทคโนโลยี mRNA ด้วยกัน เนื่องจากประสิทธิผลของวัคซีนทั้งสองบริษัทใกล้เคียงกันมาก จึงจะไม่พิจารณาในมิติประสิทธิผลในการป้องกันโรค แต่จะไปพิจารณาในเรื่องมิติความปลอดภัยหรือผลข้างเคียง ซึ่งผลข้างเคียงที่ต้องพิจารณาสำหรับวัคซีนสองตัวนี้ ได้แก่
1.การแพ้รุนแรงแบบช็อก (Anaphylaxis) ซึ่งพบว่าจะเกิดในผู้หญิงมากถึงร้อยละ 95
ตัวเลขรายงานของสหรัฐฯ ที่เก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ถึง 18 มกราคม 2564 จำนวนการฉีด กว่า 17 ล้านโดส
พบมีการแพ้รุนแรงแบบช็อค 66 รายคิดเป็น 3.6 รายต่อ 1 ล้านโดส
โดยพบของบริษัท Pfizer 4.7 รายต่อ 1 ล้านโดส
บริษัท Moderna พบ 2.5 รายต่อ 1 ล้านโดส
Pfizer พบมากกว่า 1.9 เท่า
ดังนั้นผู้หญิง ซึ่งมีโอกาสเจอการแพ้แบบช็อคได้มากกว่าผู้ชาย จึงควรพิจารณาฉีด Moderna ซึ่งมีร้อยละของการแพ้แบบช็อก น้อยกว่าของ Pfizer เกือบสองเท่าตัว
2.กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบว่ามีผลข้างเคียงในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงถึง 5.28 เท่า ( 16.9 ต่อ 3.2 ราย ต่อ1 ล้านโดส) โดยค่าเฉลี่ยที่พบคือ 12.6 รายต่อ 1 ล้านโดส
Pfizer พบ 8 รายต่อ 1 ล้านโดส
Moderna พบ 19.8 รายต่อ 1 ล้านโดส
Moderna พบผลข้างเคียงมากกว่าถึง 2.5 เท่า
ในกรณีผู้ชาย ซึ่งจะพบผลข้างเคียงแบบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่าผู้หญิง จึงต้องพิจารณาฉีด Pfizer เพราะมีผลข้างเคียงเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบน้อยกว่า Moderna 2.5 เท่า
กล่าวโดยสรุป
1.ผู้ชายควรฉีดวัคซีน Pfizer เพราะพบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้อยกว่า Moderna 2.5 เท่า
2.ผู้หญิงควรฉีดวัคซีน Moderna เพราะพบการแพ้รุนแรงแบบช็อก น้อยกว่า Pfizer 1.9 เท่า
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบตคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- ก.ย.64 มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 40,276,356 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 27,303700 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 12,357,581 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 615,075 ราย