ฉีดวัคซีนโควิดในไทยครบ 50 ล้านคนสิ้นปี 64 -กระตุ้นเข็ม 3 ได้ 26 ล้านคน

12 ก.ย. 2564 | 03:24 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ย. 2564 | 10:26 น.

หมอเฉลิมชัยเผยสิ้นปี 2564 ประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 มากพอฉีดได้ครบ 50 ล้านคน หรือ 90% และแบ่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ได้ 26 ล้านคน

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
สิ้นปี 2564 ไทยจะมีวัคซีนมากพอฉีดคนไทย 90% หรือฉีดวัคซีนครบ  50 ล้านคน แล้วแบ่งฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ได้อีก 26 ล้านคน
การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพื่อยุติการระบาดใหญ่ และควบคุมให้กลายเป็นโรคประจำถิ่นนั้น จำเป็นจะต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้โดยเร็ว ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญสองประการคือ
1.จำนวนหรือปริมาณวัคซีนที่สามารถจัดหามาได้ ภายในเวลาที่กำหนด
2.ศักยภาพหรือความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวัน
ถ้ามาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนโควิดในประเทศไทย จะมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
ภายในเดือนธันวาคม 2564 ไทยจะมีวัคซีนหลักสามชนิด ดังนี้
1.Sinovac 31.5 ล้านโดส
2.AstraZeneca 62.9 ล้านโดส
3.Pfizer 31.5 ล้านโดส
รวมเป็นวัคซีนทั้งสิ้น 125.9 ล้านโดส

วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย
เริ่มต้นด้วย
กุมภาพันธ์ 2564 ไทยได้รับวัคซีน 
Sinovac (SV) 2 แสนโดส
AstraZeneca (AZ) 1.2 แสนโดส
มีนาคม 2564 
ได้รับวัคซีน SV 8 แสนโดส

เมษายน 2564 
ได้รับวัคซีน SV 1.5 ล้านโดส
พฤษภาคม 2564 
ได้รับวัคซีน SV 4 ล้านโดส
ทำให้ในช่วงแรกคือ
กุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2564 
ไทยมีปริมาณวัคซีนที่น้อยมากเพียง 6.6 ล้านโดส

แต่เมื่อบริษัทสยามไบโอซายน์ ซึ่งผลิตวัคซีนให้กับแอสตร้าไทยแลนด์ เริ่มเดินเครื่องการผลิตได้ในเดือนมิถุนายน 2564
ทำให้วัคซีนในเดือนมิถุนายน 2564 ขยับขึ้นเป็น 6.9 ล้านโดส ( SV 1.5 ล้านโดส และ AZ 5.4 ล้านโดส )
กรกฎาคม 2564  ได้รับวัคซีน 11.9 ล้านโดส ( SV 5 ล้านโดส และ  AZ 6.9 ล้านโดส)
สิงหาคม 2564 มีวัคซีนจำนวน 13.8 ล้านโดส ( SV 6.5 ล้านโดส AZ 5.8 ล้านโดส และ PZ 1.5 ล้านโดส )

วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย
ยอดของวัคซีน สิ้นสุดที่เดือนสิงหาคม 2564 รวม 39.22 ล้านโดส
และฉีดไปแล้ว 38.87 ล้านโดส
ต่อจากนั้นในอีก 4 เดือนที่เหลือของปีนี้
กันยายน 2564
จะมีวัคซีนเข้ามา 15.7 ล้านโดส 
SV 6 ล้าน  
AZ 7.7 ล้าน 
PZ  2 ล้านโดส
ตุลาคม 2564 
เข้ามาอีก 24 ล้านโดส
SV 6 ล้าน 
AZ 10 ล้าน
PZ  8 ล้านโดส
พฤศจิกายน 2564
เข้ามาอีก23 ล้านโดส
AZ 13 ล้าน
PZ 10 ล้านโดส
ธันวาคม 2564 
เข้ามาอีก 24 ล้านโดส
AZ 14 ล้าน
PZ 10 ล้าน
ทำให้ในอีก 4 เดือนที่เหลือ 
จะมีวัคซีนเข้ามาอีก  86.7 ล้านโดส

วัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย
เมื่อรวมกับวัคซีนที่รับมาแล้ว และฉีดไปเกือบทั้งหมดแล้วอีก 39.22 ล้านโดส
จึงทำให้มีวัคซีนที่คาดว่าจะมีใช้ฉีดทั้งสิ้น 125.92 ล้านโดส
ซึ่งจะสามารถฉีดคนละ 2 เข็ม ตามเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ คือฉีดให้ได้ 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดสแล้วนั้น
จะมีวัคซีนมากพอ ที่จะฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ได้อีก มากถึง 25.92 ล้านคน
ในกรณีถ้ายังไม่แบ่งไปฉีดเข็มสาม  จะสามารถฉีดให้ประชากรได้ทั้งสิ้นถึง 62.96 ล้านคน หรือเกือบ 90% ของประชากรทั้งประเทศ
ในประเด็นเรื่องความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทย
ขณะนี้เหลือเวลาอีก 112 วัน ถ้าจะฉีดให้ครบ 100 ล้านโดส จะต้องฉีดอีก 61.13 ล้านโดส เฉลี่ยต้องฉีดวันละ 5.4 แสนโดส
ถ้ากรณีจะฉีดให้ได้ 125.92 ล้านโดส จะต้องฉีดอีก 86.71 ล้านโดส หรือวันละ 7.7 แสนโดส

เมื่อย้อนกลับไปดูศักยภาพการฉีดวัคซีนในระยะหลังของไทย จากการเก็บตัวเลขในช่วงวันที่ 1-11 กันยายน 2564 เราสามารถฉีดวัคซีนไปได้ทั้งสิ้น 7.86 ล้านโดส เฉลี่ยวันละ 7.1 แสนโดส
ซึ่งใกล้เคียงกับที่เราต้องการคือ อยู่ในช่วง 5.4 แสนถึง 7.7 แสนโดส โดยเราเคยทำสถิติสูงสุดฉีดวันเดียว เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2564 ได้จำนวน 9.2 แสนโดส
จึงพอสรุปอยู่บนพื้นฐานที่มีความเป็นไปได้ว่า
1.ปริมาณวัคซีนที่เข้ามาขั้นต่ำ อยู่ที่ 125.92 ล้านโดส เพียงพอที่จะฉีดให้คน 50 ล้านคน ได้ครบสองเข็ม และเหลือกระตุ้นเข็มสามได้อีก 25.92 ล้านคน หรือถ้าฉีดสองเข็มหมดทุกคน โดยยังไม่กระตุ้นเข็มสาม จะฉีดได้ถึง 62.96 ล้านคน หรือ 90% ของทั้งประเทศ
2.ความสามารถในการฉีด ถ้าจะฉีดให้ครบ 50 ล้านคน จะต้องฉีดที่เหลือเฉลี่ยวันละ 5.4 แสนโดส แต่ถ้าจะฉีดให้ครบทั้ง 125.92 ล้านโดส จะต้องฉีดเฉลี่ยวันละ 7.7 แสนโดส ซึ่งเราสามารถฉีด ณ ปัจจุบัน อยู่ที่ 7.1 แสนโดส
ทั้งนี้ยังไม่นับวัคซีนทางเลือก ได้แก่ Sinopharm และ Moderna ซึ่งคาดว่าจะมีวัคซีนของ Sinopharm รวมทั้งสิ้น 25 ล้านโดส และ Moderna อีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 30 โดส
ดังนั้น แนวโน้มการฉีดวัคซีนของประเทศไทยภายในสิ้นปีนี้ จึงเป็นไปได้ที่จะครอบคลุมประชากรตามที่ต้องการ รวมถึงเหลือกระตุ้นเข็มสามได้อีกราว 26 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการมีไวรัสกลายพันธุ์ ทำให้ความครอบคลุมของประชากรที่จะต้องฉีดวัคซีน จะสูงกว่าที่เคยคำนวณไว้เดิมคือประมาณ 70% อาจจะต้องขยับขึ้นมาถึง  90%
ซึ่งตามที่วิเคราะห์มาทั้งหมด ก็มีโอกาสความเป็นไปได้มากทีเดียว คงต้องติดตามดูกันต่อไป
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-10 ก.ย. 64 พบว่า มีการฉีดวัคซีนโควิดสะสมแล้วจำนวน 39,631,862 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 26,954,546 ราย ฉีดครบ 2 เข็มจำนวน 12,063,643 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 613,673 ราย