Moderna เข้าไทย 13 ล.โดสต้นปี 65 หมอเฉลิมชัยแนะวิจัยฉีดเข็ม 3 หลัง Sinopharm

14 ก.ย. 2564 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2564 | 19:58 น.

หมอเฉลิมชัยเผยต้นปี 65 ประเทศไทยจะมีวัคซีน Moderna ฉีดรวม 13 ล้านโดส ระบุยังไม่มีงานวิจัยมากเพียงพอในการใช้วัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มกระตุ้นตามหลังวัคซีน Sinopharm

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ต้นปี 2565 ไทยจะมีวัคซีนทางเลือกของบริษัท Moderna ฉีดรวม 13 ล้านโดส 
เนื่องจากวัคซีนป้องกันโควิดเป็นวัคซีนใหม่ ที่เร่งวิจัยพัฒนาโดยเร่งด่วน ผลข้างเคียงระยะยาวจึงไม่อาจจะทราบได้ ทำให้บริษัทวัคซีนต่างๆ ต้องจดทะเบียนฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) พร้อมกับเป็นฝ่ายร่างสัญญาว่า ผลข้างเคียงต่างๆที่เกิดขึ้น ทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบ ทำให้ภาคเอกชนในประเทศต่างๆ ไม่สามารถที่จะรับความเสี่ยงดังกล่าวได้
ส่วนใหญ่ประเทศที่สั่งซื้อวัคซีนในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นภาครัฐ ซึ่งรวมทั้งในประเทศไทยด้วย
โดยประเทศไทยได้สั่งวัคซีนหลัก 3 ชนิดเข้ามาแล้ว ประกอบด้วย
1.Sinovac แบบเชื้อตาย
2.AstraZeneca ไวรัสเป็นตัวนำ 
3.Pfizer แบบ mRNA

ส่วนที่เหลือจะเป็นวัคซีนทางเลือก ซึ่งการนำเข้าก็จะเป็นหน่วยงานของรัฐเช่นกัน ประกอบด้วย
1.Sinopharm นำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
2.Moderna นำเข้าโดยองค์การเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย

กล่าวเฉพาะวัคซีน Moderna ในเบื้องต้นองค์การเภสัชกรรมจะนำเข้ามา 5 ล้านโดส ปลายปี 64 จำนวน 1 ล้านโดส และไตรมาสแรกของปี 2565 4 ล้านโดส ซึ่งจะจำหน่ายให้กับภาคเอกชนไปฉีดให้กับประชาชนที่จองไว้
ขณะนี้มีข่าวดีเพิ่มเติมว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ หนึ่งในห้าหน่วยงานของรัฐ ที่สามารถนำเข้าวัคซีนทางเลือกได้ ได้ลงนามกับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา เพื่อนำเข้าวัคซีน Moderna อีก 8 ล้านโดส โดยจะส่งมอบกันได้ตั้งแต่ต้นปี 2565 เป็นต้นไป ทำให้ไทยจะมีวัคซีน Moderna ฉีดขั้นต่ำรวมแล้ว 13 ล้านโดส
เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แจ้งว่า จะนำมาฉีดเป็นเข็มกระตุ้นให้กับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน Sinopharm ซึ่งฉีดไปแล้ว ผ่านองค์กรนิติบุคคล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานพยาบาล และกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส

ต้นปี 65 ไทยจะมีวัคซีน Moderna ฉีดรวม 13 ล้านโดส
ข้อมูลที่น่าสนใจของวัคซีน Moderna ได้แก่
1.เป็นวัคซีนใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับวัคซีนของบริษัท Pfizer
2.ประสิทธิผลในการทดลองอาสาสมัคร (Efficacy) ได้ 94.1% เทียบเท่ากับวัคซีน Pfizer ซึ่งได้ 95% แต่เมื่อใช้ในโลกแห่งความเป็นจริงประสิทธิผล (Effectiveness) เมื่อเจอกับไวรัสเดลต้าลดลงพอสมควร
3.มีผลข้างเคียงรุนแรง แต่พบน้อยมาก ที่สมควรรับทราบอยู่สองประการ ได้แก่
3.1 การแพ้รุนแรงแบบช็อก(Anaphylaxis)
Moderna พบ 2.5 รายต่อ 1 ล้านโดส
Pfizer พบ 4.6 รายต่อ 1 ล้านโดส
และเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง
3.2 กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
Moderna พบ 19.8 รายต่อ 1 ล้านโดส
Pfizer พบ 8 รายต่อ 1 ล้านโดส
และส่วนใหญ่เป็นผู้ชายอายุค่อนข้างน้อย

4.ยังไม่มีงานวิจัยที่มากเพียงพอ ในการใช้วัคซีน Moderna เป็นเข็มกระตุ้นตามหลังวัคซีน Sinopharm ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย แต่คาดว่าน่าจะไม่มีปัญหา เพราะการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นด้วยวัคซีนเชื้อตาย แล้วกระตุ้นด้วยเทคโนโลยี mRNA ก็มีอยู่แล้วคือ ฉีดด้วย Sinovac และตามด้วย Pfizer
แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อความมั่นใจ ก็ควรจะได้เร่งทำวิจัยฉีด Sinopharm แล้วตามด้วย Moderna ว่าผลข้างเคียงและประสิทธิผลเป็นอย่างไร
5.เมื่อถึงปี 2565 วัคซีนรุ่นที่สอง น่าจะทยอยออกมาเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ถ้าประเทศไทยสามารถจองวัคซีนรุ่นที่สองได้รวดเร็ว ทำให้มีปริมาณเพียงพอในปี 2565 วัคซีนรุ่นที่หนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นของบริษัทใด ที่จะใช้ฉีดกระตุ้นในต้นปี 2565 ก็อาจจะมีความจำเป็นลดลง
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-13 ก.ย. 64 พบว่า มีการฉีดวัคซีนโควิดสะสมแล้วจำนวน 40,953,025 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 27,540,743 ราย ฉีดครบ 2 เข็มแล้วจำนวน 12,795,707 ราย และฉีดเข็มที่ 3 จำนวน 616,575 ราย