ฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนังทางออกในเด็ก-ผู้ใหญ่ทุกอายุประหยัด 5 เท่า

15 ก.ย. 2564 | 02:21 น.

หมอธีระวัฒน์เผยฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนังทางออกในเด็กและผู้ใหญ่ทุกอายุ ระบุผลข้างเคียงน้อยได้ผลเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ชี้ประหยัดวัคซีนได้อย่างน้อยห้าเท่า

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง 
ได้ผลเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อประหยัดวัคซีนได้อย่างน้อยห้าเท่า 
ผลข้างเคียงน้อยกว่า
เป็นทางออกในเด็กและผู้ใหญ่ทุกอายุ
หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า ในประเทศไทย การฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal หรือ ID) เริ่มต้นในปี 1987 โดยพวกเราคนไทยเอง แก้ปัญหาวัคซีนไม่พอสำหรับป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า 
ดังนั้นใช้กลวิธีฉีดเข้าชั้นผิวหนัง (intradermal) โดยใช้ปริมาณ 0.1 ซีซีแทนที่จะใช้ 0.5 ซีซีหรือ 1.0 ซีซี (แล้วแต่ยี่ห้อ) เข้ากล้าม (intramuscular หรือ IM) ทั้งนี้โดยกำหนดให้มีความแรงของวัคซีนที่ชัดเจน
และนำไปสู่การใช้ในประเทศไทยในปี 1988 และนำเสนอต่อองค์การอนามัยโลกจนกระทั่งยอมรับใช้ทั่วโลกในปี 1991 และการประชุมล่าสุดในปี 2017 ยังเป็นที่รับรองจนถึงปัจจุบันโดยได้ผลเท่ากันทั้งการกระตุ้นภูมิ (immunigenicity) และประสิทธิภาพในการป้องกันโรค (efficacy)

กลไกในการออกฤทธิ์การฉีดเข้าชั้นผิวหนังของวัคซีนพิษสุนัขบ้าซึ่งเป็นเชื้อตายจะผ่านกลไกที่เรียกว่า Th2 แทนที่จะเป็น Th1 และเราได้รายงานในวารสารวัคซีนในปี 2010 และบรรจุในคู่มือ WHO จนปัจจุบัน
สำหรับวัคซีนโควิดขณะนี้เรามีทั้งวัคซีนเชื้อตาย ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม และฝากกับไวรัสเป็น เช่น แอสตร้าเซนเนก้า  จอนห์สันแอนด์จอนห์สัน (J&J) สปุ๊ตนิค ชนิด mRNA ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และแบบชิ้นโปรตีนย่อย ใบยา โนวาแวคซ์
ทางที่เป็นได้
1.คนเสี่ยงสูงสุดที่ได้ซิโนแวค IM ไปแล้วสองเข็มต่อด้วยแอสตร้า ID 1 จุด 0.1 ซีซี (เริ่มมีข้อมูลแล้ว) และกันสายพันธุ์หลากหลายได้ และประเทศจีนมีการศึกษารายงานแล้ว

ฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังได้ผลเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
2.คนทั้งประเทศปรับเปลี่ยนเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ID ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเชื้อตาย หรือชนิดอื่น ทั้งนี้โดยที่รายงานจากเนเธอร์แลนด์แสดงว่าการฉีดเข้าชั้นผิวหนังของวัคซีน mRNA ในปริมาณน้อยกว่าธรรมดา 5 ถึง 10 เท่า (10 หรือ 20 ไมโครกรัม) แทนที่จะเป็น 100 แบบ IM ได้ผลเช่นกัน
3.คนที่ได้รับการฉีดแบบเข้ากล้าม หรือ IM ไปแล้ว ฉีดให้ครบสูตรทั้งสองเข็ม ไม่สลับ IM ID ในเข็ม 1 และ 2
แต่กระตุ้น เข็ม 3 เป็น ID ได้
เช่นเดียวกันคนฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ID ก็ชั้นผิวหนังตลอดทั้งเข็มหนึ่งและเข็มสอง
ถ้าได้วัคซีนมา 1,000,000 โดสก็จะกลายเป็น 10 ล้านโด็ส
เราสามารถเก็บข้อมูลตามข้อมูลในขณะที่เริ่มการฉีดเข้าชั้นผิวหนังได้ทันทีเลย
การฉีดเข้าชั้นผิวหนังเหมือนกับการฉีดวัคซีนบีซีจีในเด็กแรกเกิด หรือการฉีดดูปฏิกิริยาวัณโรค (tuberculon test)หรือฉีดในคนที่แพ้ฝุ่นเป็นต้น (desensitization)

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ยังพบว่าขณะนี้ได้มีรายงานการศึกษาของไทยเราเอง ที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต พบว่าการฉีดกระตุ้นเข็มที่สามด้วยวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ (AstraZeneca) ตามหลังการฉีดวัคซีนเชื้อตาย (Sinovac) สองเข็ม
โดยเปรียบเทียบวิธีการฉีดตามมาตรฐานเดิมคือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ กับวิธีการฉีดเข้าชั้นผิวหนัง พบว่าได้ภูมิคุ้มกันสูงเท่ากัน แต่ประหยัดวัคซีนได้มาก 5-10 เท่า และการฉีดแบบใหม่เข้าชั้นผิวหนังจะพบผลข้างเคียงแบบทั่วไปลดลงอย่างมาก โดยมีผื่นหรือการเจ็บปวดเฉพาะตำแหน่งที่ฉีดมากกว่า
การวิจัยเก็บข้อมูลครั้งนี้ ใช้อาสาสมัคร 242 คน โดยทั้งหมดได้ผ่านการฉีดวัคซีน Sinovac สองเข็มมาแล้วมากกว่าสี่สัปดาห์ และได้ทำการตรวจก่อนฉีดเข็มสามว่าไม่มีการติดเชื้อ
โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง ฉีดด้วยวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ พบว่าระดับภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 330 เป็น 17,214 AU/ml
ในขณะที่วิธีฉีดแบบใหม่คือ ฉีดเข้าผิวหนัง ภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 366 เป็น 17,662 AU/ml ซึ่งถือว่าระดับภูมิคุ้มกันสูงเทียบเท่ากัน
และยังพบต่อไปว่า การฉีดแบบใหม่คือ เข้าชั้นผิวหนัง จะพบผลข้างเคียงแบบทั่วไปน้อยกว่า คือพบเพียง 70 ราย เมื่อเทียบกับฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 98 ราย
แต่จะพบผลข้างเคียงเฉพาะที่มากกว่าคือ 39 รายต่อ 13 ราย โดยอาการที่พบเฉพาะที่ได้แก่ ปวดบวมแดง หรือมีผื่นตำแหน่งที่ฉีด
จึงเป็นการศึกษาของไทยเราเอง ที่ยืนยันการศึกษาของต่างประเทศว่า การฉีดวัคซีนโควิดเข้าชั้นผิวหนัง ได้ระดับภูมิคุ้มกันเทียบเท่ากับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ แต่ประหยัดวัคซีนมากกว่า 5-10 เท่า