ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวถึง ประเด็น ปี 2564 จะมีน้ำท่วมใหญ่หรือไม่ และควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไร ? ว่า ตามที่มีกระแสข่าวมาว่า ปีนี้จะเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ประเทศไทยจะต้องเจอกับฝนที่มากขึ้น ฝนจะตกชุกหนาแน่นในหลายพื้นที่นั้น ยอมรับ สถานการณ์ช่วงนี้ ยังต้องเฝ้าระวังฝนตกหนัก แต่โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมแบบปี 2554 มีน้อย เพราะน้ำในเขื่อนยังน้อย เพียง 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และปัจจัยจากน้ำทะเลหนุนปีนี้ก็มีไม่มาก
จึงเหลือปัจจัยเดียวที่จะต้องเตรียมรับมือคือ น้ำฝนที่ตกลงในพื้นที่ชุมชนเมืองเท่านั้น แต่ที่น่ากังวลคือ น้ำแล้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากนี้แน่นอน จึงต้องเตรียมการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ ขณะที่ป้องกันน้ำท่วมก็ต้องเตรียมกักเก็บน้ำไปด้วย การใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ การบริหารจัดการน้ำที่ดีจะป้องกันน้ำท่วม-น้ำแล้ง
จึงต้องมีการบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง อว.พร้อมทำงานร่วมกับทุกกรม ทุกกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นโครงการเจ้าพระยาเดลต้า 2040 หรือการจัดทำระบบป้องกันน้ำท่วม ฯลฯ เพื่อเร่งนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
จับตาพายุ
ด้าน ดร.นายสุทัศน์ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กล่าวว่า จากการคาดการณ์ฝนเดือน ก.ย. ถึง ต.ค.นี้ ประเทศไทยตอนบนจะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าค่าปกติ และน่าจะมีพายุอย่างน้อย 1 ลูกเคลื่อนที่เข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอ่อนกำลังในภาคเหนือ พื้นที่ฝนตกส่วนใหญ่จะตกในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง และจะตกบริเวณท้ายเขื่อนมากกว่า ทำให้ไม่มีน้ำไหลลงในเขื่อนมากนัก
ซึ่งตอนนี้พบสัญญาณว่า จะมีพายุก่อตัว ที่จะเคลื่อนตัวเข้ามาทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงปลายเดือน ก.ย.จะส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลด้วย อาจจะเกิดน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่
เดือน ต.ค.สิ้นสุดฤดูฝน
ขณะที่ในเดือน พ.ย. ก็คาดว่าจะมีฝนตกมากกว่าค่าปกติในพื้นที่ภาคใต้ อาจมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงและหย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวเข้ามายังอ่าวไทยได้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักจนเกิดอุทกภัยได้จึงควรเตรียมพร้อมรับมือ
ผอ.สสน.กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบ ปริมาณฝนของปี 2554 ปี 2560 และ ปี 2564 พบว่า ปริมาณฝนในปี 2564 นี้ต่างจาก 2 ปี ดังกล่าวมากเกือบทั่วทั้งประเทศ และโดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีฝนในพื้นที่เหนือเขื่อนน้อยมาก ทำให้น้ำไหลลงเขื่อนขณะนี้ น้อยกว่าทั้ง 2 ปีดังกล่าว โดยเฉพาะบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล และเหนือเขื่อนสิริกิติ์ นั้น มีปริมาณฝนตกรวมกัน ไม่ถึง 50 มิลลิเมตร ซึ่งเดือน ต.ค. จะสิ้นสุดฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนแล้ว ยังต้องการน้ำไหลลงเขื่อนอีกมาก
ขณะที่ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต กล่าวว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 มีน้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างมีความเป็นได้ 10-20 เปอร์เซ็นต์ว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนลุ่มน้ำภาคตันออกเฉียงเหนือมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม 20 – 40 เปอร์เซ็นต์ ลุ่มน้ำตะวันออก มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วม 30- 40 เปอร์เซ็นต์ ลุ่มน้ำภาคใต้ มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดน้ำท่วม 50- 60 เปอร์เซ็นต์