แก้น้ำท่วมกทม. ซ้ำซาก เสนอขุด คลองระบายน้ำบายพาส

22 ก.ย. 2564 | 07:15 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2564 | 14:21 น.

น้ำท่วม กทม.ซ้ำซาก ภาคประชาชน มูลนิธิคนรักเมืองมีน เดินหน้าเสนอ สภา จัดทำ “คลองระบายน้ำบายพาส”กว้าง 300 แก้ผลกระทบคนฝั่งตะวันออก และรับความเจริญของพื้นที่ หลัง รถไฟฟ้าสายสีส้ม-ชมพู เตรียมเปิดบริการ

มูลนิธิคนรักเมืองมีน ในนาม “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพู” เสนอให้จัดทำ “คลองระบายน้ำบายพาส” เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ต่อคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564

 

นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธานมูลนิธิคนรักเมืองมีน กล่าวว่า มูลนิธิคนรักเมืองมีน ร่วมกับหอการค้าไทย-จีน กรุงเทพมหานคร นักวิชาการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานด้านวิชาการในนาม “คณะกรรมการศึกษาการพัฒนาเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีชมพู” 

 

คณะกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่จำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นพื้นที่ “ฟลัดเวย์” สีขาวทแยงสีเขียวมานานกว่า 30 ปี โดยที่ไม่ได้สร้างเส้นทางระบายน้ำตามวัตถุประสงค์เดิมของผังเมืองแต่อย่างใด

 

ในขณะที่ความเจริญทางเศรษฐกิจในพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก มีการเติบโตและขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีพื้นที่เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้สนามบิน              สุวรรณภูมิ และมีการก่อสร้างรถไฟฟ้า 2 สาย ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2565 และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี) 

ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2567 รวมทั้งยังมีรถไฟฟ้า Airport Link ซึ่งจะปรับรูปแบบเป็นรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เชื่อมโยงสนามบินดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา

 

อาศัยมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 

“รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือ การประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน”

 

คณะกรรมการฯ จึงได้นำเสนอคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร (มีนายพลภูมิ              วิภัติภูมิประเทศ ทำหน้าที่แทนประธานคณะกรรมาธิการฯ) ให้มีการจัดทำ “คลองระบายน้ำบายพาส” ขนาดใหญ่ บนพื้นที่ฟลัดเวย์ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมให้มีการระบายลงสู่อ่าวไทยอย่างรวดเร็ว
 

ซึ่งจะทำให้พื้นที่ฟลัดเวย์ของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก เป็นพื้นที่เพื่อการระบายน้ำท่วมจากทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง ตามวัตถุประสงค์เดิมของผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และเพื่อปลดล็อกการจำกัดสิทธิ์การพัฒนาที่ดินในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ขยายขอบเขตการพัฒนาที่ดินให้สอดคล้องกับสภาพความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันของพื้นที่ 

 

" โดยคลองที่เสนอนี้ จะมีความกว้าง 300 เมตร มีที่ว่างชานคลองอีกข้างละ 100 เมตร สำหรับทำการเกษตรในช่วงที่ไม่มีน้ำท่วม และเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ในฤดูฝน มีถนนสองข้างคลอง ข้างละ 6 เลน คลองนี้จะมีความยาวประมาณ 157 กิโลเมตร รองรับน้ำท่วมจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอ่างทอง และแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แนวเส้นทางจะผ่านจังหวัดปทุมธานี ผ่านพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณแนวฟลัดเวย์ และผ่านจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อนำน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทยอย่างรวดเร็ว ไม่น้อยกว่า 2,500 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คลองระบายน้ำบายพาสนี้ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการประมาณ 7 ปี " 

 

การจัดทำคลองระบายน้ำบายพาสนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำท่วมจากทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ส่งผลเสียหายให้แก่พื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยารวมทั้งกรุงเทพมหานคร นอกจากนั้น ยังจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณที่คลองระบายน้ำบายพาสนี้ตัดผ่าน อาทิ จะมีเส้นทางโลจิสติกส์ทางน้ำและถนนที่เพิ่มมากขึ้น  บริเวณที่ว่างชานคลองข้างละ 100 เมตร ในช่วงที่ไม่มีน้ำท่วม  สามารถจัดทำเป็นสวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่สันทนาการ การท่องเที่ยวทางน้ำ สามารถจัดการแข่งขันกีฬาทางน้ำ หรือใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร เป็นแหล่งอาหารของเมือง


นอกจากนั้น จากการที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานครมีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 300,000 ไร่ (1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดของกรุงเทพมหานคร) จึงสามารถที่จะส่งเสริมและพัฒนาให้เป็น “เมืองใหม่แห่งอนาคตของกรุงเทพมหานคร” ที่มีความยั่งยืน พัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการบริหารจัดการเมือง ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้เป็นเมืองสีเขียว (Green City) ที่เน้นการรักษาสิ่งแวดล้อมและปลอดมลพิษ มีการบริหารจัดการขยะ การจัดการน้ำเสีย ลดการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง ทำให้เป็นเมืองใหม่ที่มีความน่าอยู่อาศัยของกรุงเทพมหานครต่อไป


ในระหว่างที่รอการจัดทำคลองระบายน้ำบายพาสนั้น คณะกรรมการฯ เสนอให้เจ้าของที่ดินที่ต้องการพัฒนาที่ดินบริเวณแนวคลองตัดผ่าน ให้มีการขุดบ่อหน่วงน้ำ หรือ “แก้มลิง” 10% ของพื้นที่ที่จะพัฒนา และสามารถที่จะเชื่อมต่อกับคลองระบายน้ำบายพาส เมื่อจัดทำแล้วเสร็จ

 

สำหรับแนวทางการจัดทำคลองระบายน้ำบายพาสนี้ คณะกรรมการฯ เสนอให้ใช้วิธีการ “จัดรูปที่ดิน” ตาม พ.ร.บ.จัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ พ.ศ.2547 แทนการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากสามารถที่จะดำเนินการได้โดยความยินยอมของเจ้าของที่ดิน 2 ใน 3 ภาครัฐจะเป็นผู้ให้การสนับสนุน วิธีดำเนินการเป็นการประสานการพัฒนาชุมชนโดยภาครัฐเเละเอกชน (ราษฎร์ - รัฐ ร่วมพัฒนา) อีกทั้งยังช่วยลดการใช้งบประมาณภาครัฐในเวนคืนที่ดิน ซึ่งเมื่อจัดรูปที่ดินเสร็จเเล้ว จะทำให้มูลค่าที่ดินจะสูงขึ้น จึงคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากเจ้าของที่ดินมากกว่าวิธีการเวนคืน

 

สำหรับเจ้าของที่ดินที่ที่ดินถูกขุดเป็นคลอง ไม่สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้ สามารถทำการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยจะมีการจัดตั้ง “บริษัทพัฒนาเมือง” เป็นผู้บริหารกิจการคลอง จัดหาประโยชน์จากพื้นที่บริเวณคลอง บริหารจัดการน้ำ จัดการพลังงานทางเลือก เพื่อให้มีกำไรคืนให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาเมืองดังกล่าว


ผลการศึกษาของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวข้างต้นนี้ คณะกรรมการฯ จะนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา และจะจัดส่งกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครบริเวณพื้นที่ฟลัดเวย์ของกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออกต่อไป