ผบ.ตร. เดินหน้า “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” นำร่อง 15 สน. คุมเข้มอาชญากรรม

25 ก.ย. 2564 | 12:09 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.ย. 2564 | 19:14 น.

ผบ.ตร. เดินหน้า "สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0" นำเทคโนโลยีคุมเข้มความปลอดภัย-ป้องกันอาชญากรรม นำร่อง 15 สถานีตำรวจแลนด์มาร์กทั่วประเทศ

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ถือเป็นโครงการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ขับเคลื่อนบนตามยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

และใช้ตัวชี้วัดสากล WORLD INTERNAL SECURITY and POLICE INDEX หรือ WISPI ในการเพิ่มประสิทธิภาพป้องกันอาชญากรรมเชิงรุกนำการปราบปราม โดยคัดเลือกพื้นที่ที่เป็นแลนด์มาร์คแหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมจำนวน 15 พื้นที่ กำหนดสถานีตำรวจที่ดูแลพื้นที่นั้นๆจำนวน 15 สถานี เป็นสถานีนำร่องโครงการทั่วประเทศ

ผบ.ตร. เดินหน้า “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” นำร่อง 15 สน. คุมเข้มอาชญากรรม

โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รอง ผบ.ตร, พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย รอง ผบ.ตร., ร่วมกับ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นคณะขับเคลื่อนโครงการโดยมี 15 สถานีนำร่อง ได้แก่ สน.ลุมพินี, สน.ห้วยขวาง, สน.ภาษีเจริญ, สภ.ปากเกร็ด, สภ.เมืองสมุทรปราการ, สภ.เมืองพัทยา, สภ.เมืองระยอง, สภ.เมืองปราจีนบุรี, สภ.ปากช่อง, สภ.เมืองอุดรธานี, สภ.เมืองเชียงใหม่, สภ.เมืองพิษณุโลก, สภ.เมืองราชบุรี, สภ.เมืองภูเก็ต และ สภ.หาดใหญ่

 

ทั้งนี้โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ระยะแรกที่มี 15 สถานีนำร่อง ได้ดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ช่วยกันสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย โดยมีการความต้องการของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ (People Poll) ทำให้ได้ข้อเสนอแนะจากคนในพื้นที่มาพัฒนาการดำเนินโครงการให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่

ผบ.ตร. เดินหน้า “สมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0” นำร่อง 15 สน. คุมเข้มอาชญากรรม

ตลอดจนปรับปรุงการทำงานของตำรวจให้ตรงกับสภาพปัญหา และความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงด้วย โดยมีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อประสิทธิภาพสูงที่สุด ทั้งนี้ในระยะต่อไปจะขยายโครงการเข้าสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยคัดเลือก 1 พื้นที่ 1 จังหวัดเป็นสถานีนำร่องในระยะที่ 2 เพื่อขับเคลื่อนโครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ให้เกิดขึ้นทั่วทุกจังหวัด และทุกสถานีต่อไปในอนาคต

 

“หัวใจสำคัญของโครงการนี้ไม่ได้อยู่ที่ความทันสมัยของอุปกรณ์เครื่องมือตามรูปแบบเมืองอัจฉริยะเท่านั้น ที่สำคัญเหนือกว่านั้นคือ การแสวงหาความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสร้างกลไกการมีส่วนร่วมในการช่วยป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก และสร้างสังคมที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืนร่วมกัน”