ถอดรหัสคดี “ผู้กำกับโจ้” สะท้อนอะไรบ้างในมุมอาชญาวิทยา

27 ส.ค. 2564 | 08:52 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ส.ค. 2564 | 18:16 น.

คดีผู้กำกับโจ้ยังเป็นที่ถูกพูดถึงในวงกว้างทั้งพฤติกรรมก่อเหตุ รวมทั้งคำสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนที่ยังคงมีประเด็นกังขาเกิดขึ้น จะพาไปดูในมุมอาชญาวิทยามองเรื่องนี้ยังไงบ้าง

ยังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกรณี “ผู้กำกับโจ้” พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ สำหรับการแถลงสารภาพ ที่ยอมรับผิดคนเดียว เป็นคนสั่งการ ไม่มีเจตนาฆ่า ไม่มีการเรียกรับเงินล้านเพียงต้องการทำงานขยายผลยาเสพติด แต่พลั้งมือไป  แต่สังคมยังกังขาในคำตอบของผู้กำกับโจ้และวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงษ์ พูตระกูล ผู้ช่วยอธิการบดีและประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา ม.รังสิต ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจระบุว่า ผู้กำกับโจ้ซึ่งเป็นผู้ต้องหาจะให้การอย่างไรก็ได้ จะปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รับทราบทุกข้อกล่าวหา หรือจะรับสารภาพครึ่งหนึ่งปฏิเสธครึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ในทางปฏิบัติตำรวจที่ทำคดีจะต้องดำเนินการไปตามคำให้การของพยาน และพยานหลักฐานอื่นๆ อีกทั้งต้องสอบสวนเรื่องอำนาจที่ไม่ถูกต้องก่อนหน้านี้ว่ามีการใช้หรือไม่ ยังมีคดีอื่นที่ไม่เป็นข่าวด้วย

ถามว่าสุดท้ายปลายทางผู้กำกับโจ้จะติดคุกมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน ข้อกล่าวหาที่พนักงานสอบสวนแจ้งและคำพิพากษาของศาล แต่ประเด็นสำคัญให้ข้อสังเกตไว้ว่าต้องนำกรณีนี้เป็นกรณีศึกษาที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องระบบงานตำรวจให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะในประเด็นที่ปฏิรูปตำรวจมีการพูดถึงกันมาเป็น 10 แต่วันนี้ยังเหมือนเดิม

“เขาจะให้การยังไงก็ได้จะเป็นพระเอกแบบหนังฮอลลีวู้ดก็ได้ไม่มีใครว่า สำคัญคือพนักงานสอบสวนรวบรวมหลักฐานดำเนินคดี ถ้าคำให้การของทุกคนมีการสอดรับกันหมดเลยว่ามีการเรียกรับเงินจริงแสดงว่าสิ่งที่ผู้กำกับโจ้พูดไม่จริง และตรงนี้จะอยู่ในสำนวนแล้วจะอยู่ที่ข้อกล่าวหาที่จะแจ้งกับผู้กำกับโจ้”

ถอดรหัสคดี “ผู้กำกับโจ้” สะท้อนอะไรบ้างในมุมอาชญาวิทยา

ส่วนกรณีผู้กำกับโจ้อ้างว่าไม่ต้องการให้ผู้ต้องหาจดจำใบหน้าของตนเองได้และใช้ถุงหลายใบคลุมหัวผู้ต้องหานั้น จะให้การอย่างไรก็ได้เป็นสิทธิอยู่แล้ว แต่สิ่งที่กระทำเป็นเครื่องชี้เจตนาไม่ดี แต่ต้องรอดูผลชันสูตรอีกครั้ง เพราะเป็นหลักฐานสำคัญนำไปสู่ในชั้นศาลและมีน้ำหนักที่ศาลจะรับฟัง

“กลัวผู้ต้องหาจำใบหน้าของตัวเอง ได้ถามว่าถ้าเกิดคุณทำถูกต้องจะกลัวผู้ต้องหาจำใบหน้าทำไม ในทางกลับกันถ้าผู้กำกับโจ้กลัวผู้ต้องหาจำหน้าได้ ทำไมผู้กำกับโจ้ไม่เอาถุงดำมาคลุมหัวตัวเอง นี้เป็นเครื่องชี้ที่เจตนา สุดท้ายเชื่อว่าน่าจะเป็นไปตามนั้นที่ทำให้คนคนนี้เสียชีวิต แต่ต้องรอผลชนะสูตรอีกครั้ง”

ส่วนถ้าถามว่าในระบบนิติวิทยาศาสตร์ประเทศไทยมีความเป็นธรรมมากน้อยเพียงใด รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงษ์  กล่าวว่าต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานของตำรวจยังขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หมายความว่าเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐานอยู่ภายใต้สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็เป็นไปได้ที่จะหมิ่นเหม่ต่อการที่จะถูกแทรกแซงการทำงานให้ความเห็น

“การปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมมีประเด็นการปฏิรูปนิติวิทยาศาสตร์ที่ถูกพูดถึงด้วย ตามหลักสากลไม่ว่าจะองค์กรใดก็ตามต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุลก็จะทำให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบใช้อำนาจหน้าที่ที่มีด้วยความระมัดระวัง เช่นการเปลี่ยนความเร็วของคดีลูกเครื่องดื่มชูกำลัง คำถามตกลงจะแก้ปัญหานี้อย่างไร หลักๆคือต้องตรวจสอบได้ ต้องถ่วงดุลได้ ผู้ใต้บังคับบัญชารับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาที่ไม่ถูกต้อง ต้องมีช่องทางในการร้องเรียนเพื่อจะดำเนินการกับผู้บังคับบัญชารายนั้นแต่บ้านเราดูเหมือนจะยังไม่มีเป็นรูปธรรม”

ถอดรหัสคดี “ผู้กำกับโจ้” สะท้อนอะไรบ้างในมุมอาชญาวิทยา

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงษ์ กล่าวถึงขั้นตอนการจับกุมและการสอบสวนผู้ต้องหาคดียาเสพติด ว่า เมื่อสืบสวนพบว่าผู้ต้องหามีเครือข่ายยาเสพติด พรบ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ เพื่อขยายผลเครือข่ายยาเสพติดให้อำนาจเจ้าพนักงาน ปปส. ควบคุมตัว ผู้ถูกจับกุมได้ ไม่เกิน 3 วัน ก่อนส่งพนักงานสอบสวน แตกต่างจาก ป.วิ.อาญา ที่เมื่อจับกุมแล้วต้องส่งผู้ถูกจับกุม ให้พนักงานสอบสวนทันทีแล้วจึงควบคุมตัว ได้อีกไม่เกิน 48 ชม. ก่อนส่งศาล

“สมมุติมีการสืบสวนตรวจทราบว่านาย ก.ไก่ เป็นผู้เสพยาเสพติดและเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายยาเสพติด ตำรวจไปตรวจ พบนาย ก.ไก่มีพฤติกรรมลุกลี้ลุกลน ตำรวจขอค้นตัวพบยาเสพติดส่วนหนึ่ง เพราะในทางปฏิบัติจริงๆแล้วตำรวจต้องรู้อยู่แล้วว่าชายคนนี้ไปซื้อยาเสพติดจากไหนและมีใครที่เกี่ยวข้องกับขบวนการบ้าง เพราะฉะนั้นถ้าฝ่ายสืบสวนนำตัวผู้ถูกผู้ต้องหาส่งพนักงานสอบสวนก็จะขาดช่วง ฝ่ายสืบสวนก็จะทำการขยายผลต่อว่าตกลงยาเสพติดที่มีอยู่ขณะนี้ไปรับมาจากใครหรือไปส่งต่อให้ใคร จะได้ไปสืบสวนสอบสวนขยายผลติดตามจับกุม ตรงนี้แหละที่สุ่มเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา สุ่มเสี่ยงที่จะใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของตำรวจ”

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงษ์ ยังกล่าวว่า ประเทศไทยควรมีกลไกติดตามตรวจสอบทั้งกลไกหน่วยงานภายในองค์กรเองและภายนอกองค์กรที่จะกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชา อย่างคดีผู้กำกับโจ้ที่ผู้ใต้บังคบับัญชาอ้างว่าถูกสั่งให้ทำ

“เราต้องตรวจสอบการสั่งการของผู้บังคับบัญชา ยกตัวอย่างเช่น ในฮ่องกง สิงคโปร์ แก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ทำไม่ถูกต้องไม่ว่าจะเป็นทุจริตประพฤติมิชอบ ใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายมีคณะกรรมการกลางขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนี้ไม่ใช่ตำรวจ ไม่ใช่ผู้บังคับใช้กฏหมายของหน่วยงานนั้น แต่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนเชิงลึก กรณีได้รับเรื่องร้องเรียนเช่นกรณีผู้กำกับโจ้ถ้าเป็นในต่างประเทศมีการบอกว่าผู้กำกับคนนี้ขับรถซุปเปอร์คาร์ ถ้ารับเรื่องร้องเรียนจะทำการสืบสวนสอบสวนในเชิงรุกโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าตอนนี้กำลังถูกสอบสวนเชิงรุกเชิงรุกอยู่”

นอกจากนี้ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงษ์ ยังวิเคราะห์พฤติกรรมในประเด็นที่สังคมตั้งคำถามว่าบุคลิกภายนอก คำพูด การใช้น้ำเสียงของผู้กำกับโจ้แตกต่างจากคลิปทรมานผู้ต้องหา ว่า นี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้กำกับโจ้มีเส้นทางการรับราชการก้าวหน้า เพราะรู้ว่าจะต้องสื่อสารอย่างไร เวลาสื่อสารกับสาธารณชน สื่อสารกับผู้บังคับบัญชาอย่างไร

สะท้อนว่าผู้กำกับโจ้รู้ว่าสิ่งที่จะต้องปรากฏภาพลักษณ์ต่อสาธารณชนจะต้องทำอย่างไร เป็นอุทาหรณ์ว่าบุคลิกภาพของคนเป็นแค่รูปลักษณ์ภายนอกแต่สิ่งสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมการกระทำการแสดงออก

ถอดรหัสคดี “ผู้กำกับโจ้” สะท้อนอะไรบ้างในมุมอาชญาวิทยา