GISTDA พบน้ำท่วมขัง 12 จังหวัด เหนือ-กลางกว่า 8 เเสนไร่

28 ก.ย. 2564 | 23:43 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 07:07 น.

GISTDA ใช้ดาวเทียม COSMO-SkyMed-2 (คอมโม สกายเมด 2) พบน้ำท่วมขังในภาคเหนือ และภาคกลาง ทั้งสิ้น 816,607 ไร่ โดย จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด 276,993 ไร่

GISTDA ใช้ดาวเทียม COSMO-SkyMed-2 (คอมโม สกายเมด 2) เมื่อเวลา 17.58 น. ของวันที่ 28 กันยายน 2564 พบน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่บางส่วนของภาคเหนือ และภาคกลาง ทั้งสิ้น 816,607 ไร่ โดย จังหวัดนครสวรรค์ ได้รับผลกระทบมากที่สุด 276,993 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมวลน้ำจากจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดพิจิตรที่ไหลลงมาสมทบในพื้นที่

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบได้แก่

  • จังหวัดพิจิตร 203,780 ไร่ 
  • จังหวัดพิษณุโลก 92,294 ไร่
  • จังหวัดลพบุรี 69,866 ไร่
  • จังหวัดชัยนาท 49,677 ไร่ 
  • จังหวัดเพชรบูรณ์ 46,505 ไร่
  • จังหวัดสุพรรณบุรี 26,529 ไร่
  • จังหวัดอุทัยธานี 20,019 ไร่
  • จังหวัดสิงห์บุรี 18,771 ไร่
  • จังหวัดอ่างทอง 8,033 ไร่
  • จังหวัดสระบุรี 3,689 ไร่
  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 451 ไร่

โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ และริมฝั่งแม่น้ำ

มวลน้ำในพื้นที่ดังกล่าว จะถูกผันเข้าสู่แก้มลิงและทุ่งรับน้ำที่อยู่ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง อาทิ

  • ทุ่งเชียงราก
  • ทุ่งท่าวุ้ง
  • ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก
  • ทุ่งบางกุ่ม
  • ทุ่งบางกุ้ง
  • ทุ่งบางบาล-บ้านแพน
  • ทุ่งป่าโมก
  • ทุ่งผักไห่
  • ทุ่งเจ้าเจ็ด
  • ทุ่งโพธิ์พระยา
  • ทุ่งพระยาบรรลือ
  • ทุ่งรังสิตใต้ ที่พร้อมรองรับน้ำที่จะไหลลงมาจากพื้นที่ตอนบน

ในขณะที่มวลน้ำจำนวนหนึ่งที่มาจากเพชรบูรณ์จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่าพื้นที่เหนือเขื่อนฯ โดยเฉพาะ อ.ชัยบาดาล ใน จ.ลพบุรีได้รับผลกระทบแล้ว

อย่างไรก็ตาม การผันน้ำเข้าสู่ทุ่งรับน้ำ เป็นการชะลอการไหลของน้ำ ก่อนจะปล่อยลงสู่แม่น้ำสายหลักสายรอง และออกอ่าวไทยต่อไป

ขอให้ประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับพื้นที่รับน้ำและริมลำน้ำตลอดสาย ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำท่วมของประเทศอย่างต่อเนื่อง และสามารถตรวจสอบพื้นที่เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

GISTDA พบน้ำท่วมขัง 12 จังหวัด เหนือ-กลางกว่า 8 เเสนไร่

ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)