วัคซีนโควิดไฟเซอร์ 2 ล้านโดสแรกถึงไทยแล้ว เดือนต.ค.มาอีก 6 ล้านโดส

29 ก.ย. 2564 | 05:15 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2564 | 12:25 น.

วัคซีนโควิดไฟเซอร์ 2 ล้านโดสแรก จากสหรัฐอเมริกาถึงไทยแล้ว เดือนต.ค.จะเข้ามาอีก 6 ล้านโดส รวม 8 ล้านโดส และทยอยส่งภายในสิ้นปีนี้จนครบ 30 ล้านโดส มีเป้าหมายฉีดให้เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจำนวน 10 ล้านโดส ส่วนที่เหลือจัดสรรสำหรับประชาชนทั่วไป

วัคซีนโควิดไฟเซอร์  2 ล้านโดสแรกถึงไทยแล้ว เดือนต.ค.มาอีก 6 ล้านโดส วันนี้ (29 ก.ย.64) ที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค Ms. Deborah Seifert ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไฟเซอร์ ประเทศไทยและอินโดไชนา นายกิตติพงศ์ กิตติขจร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และผู้แทนบริษัท DHL รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 ล้านโดสจากสหรัฐอเมริกา

วัคซีนโควิดไฟเซอร์  2 ล้านโดสแรกถึงไทยแล้ว เดือนต.ค.มาอีก 6 ล้านโดส

นายอนุทิน กล่าวว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลไทยได้ลงนามสั่งซื้อกับบริษัทจำนวน 2 ล้านโดส ที่เข้ามา เป็นล็อตแรกจากทั้งหมด 30 ล้านโดส ส่งถึงประเทศไทยเช้าวันนี้เวลา 04.35 น. ด้วยสายการบิน DHL เที่ยวบิน L 350 เป็นการจัดส่งตามกำหนด หลังจากเซ็นสัญญาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 โดยในเดือนกันยายนและตุลาคมจะมีวัคซีนเข้ามารวม 8 ล้านโดส และจะทยอยเข้ามาทุกสัปดาห์จนครบ 30 ล้านโดส

วัคซีนโควิดไฟเซอร์  2 ล้านโดสแรกถึงไทยแล้ว เดือนต.ค.มาอีก 6 ล้านโดส

หลังจากตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพวัคซีนโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และ อย.แล้ว จะเร่งจัดส่งไปพื้นที่ตามแผนของกรมควบคุมโรคโดยเร็วภายในสัปดาห์หน้า

นอกจากนี้ ได้เจรจากับไฟเซอร์จัดหาวัคซีนสำหรับปี 2565 ทำให้ประเทศไทยจะมีวัคซีนโควิดทุกเทคโนโลยี ทั้ง mRNA, เชื้อตาย, ไวรัลเวคเตอร์ และหากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทดลองวัคซีนโปรตีนซับยูนิทสำเร็จ ประเทศไทยจะมีวัคซีนครบทุกเทคโนโลยี และเพียงพอในการดูแลประชาชน

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ไฟเซอร์เป็นวัคซีนชนิดเดียวในประเทศไทยที่สามารถฉีดให้กับเด็กอายุ 12-18 ปีได้ ส่วนวัคซีนอื่นๆอยู่ระหว่างการเตรียมเอกสาร เพื่อให้ผ่านขั้นตอนที่ อย. กำหนด โดยแผนการฉีดวัคซีนเด็กนักเรียนอายุ 12 ปีขึ้นไปประมาณ 5 ล้านคน ได้เตรียมวัคซีนไว้จำนวน 10 ล้านโดส และประสานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อจัดบริการฉีดในสถานศึกษาโดยบุคลากรการแพทย์ พร้อมเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์รองรับภาวะฉุกเฉินตามมาตรฐาน ส่วนวัคซีนที่เหลือจะจัดสรรเพื่อฉีดให้กับประชาชนทั่วไป 

 “แนวทางการฉีดวัคซีนของประเทศไทยขณะนี้ คือ ซิโนแวคเข็มที่  1 ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 และในอนาคตจะเป็นแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 1 ตามด้วยไฟเซอร์ เข็มที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ส่วนในปี 2565 จะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ได้มีการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตต่างๆ ไปบ้างแล้ว ยืนยันว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอสำหรับฉีดให้กับประชาชน”นายอนุทินกล่าว