มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้าที่ 1 ของประเทศ - ที่ 3 ของอาเซียน

30 ก.ย. 2564 | 00:36 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2564 | 07:41 น.

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้าที่ 1 ของประเทศ - ที่ 3 ของอาเซียน ในฐานะมหาวิทยาลัยที่สร้างบัณฑิตและการจ้างงานอย่างมีคุณภาพ การันตีโดย QS สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสากล

 สถาบันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสากล ประเทศอังกฤษ Quacquarelli Symonds (QS) ได้เผยแพร่ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก ประจำปี 2022 (QS Graduated Employability Rankings 2022) อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยพิจารณาจากคุณภาพบัณฑิตและการจ้างงาน ซึ่งพบว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ถูกจัดลำดับให้เป็นสถาบันการศึกษาอันดับที่ 3 ของอาเซียน และเป็นที่ 1 ของประเทศไทย ควบคู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนในระดับโลก มธ. ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มอันดับที่ 141-150 เลื่อนขึ้นมาสูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในกลุ่มอันดับ 171-180

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คว้าที่ 1 ของประเทศ - ที่ 3 ของอาเซียน

 

 

 รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. เปิดเผยว่า ในปี 2022 สถาบัน QS ได้จัดลำดับมหาวิทยาลัยจากทั่วโลก รวม 786 แห่ง โดย มธ. ได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้น อันเป็นผลมาจากการบรรลุตัวชี้วัดทั้ง 5 ด้าน ได้แก่

   1. ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจากผู้จ้างงาน (Employer Reputation)

   2. ความสำเร็จของศิษย์เก่า (Alumni Outcomes)

   3. บทบาทและความร่วมมือกับภาคธุรกิจ (Employers-student Connections)

   4. ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับนายจ้าง (Partnerships with Employers)

   5. อัตราการจ้างงานของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา (Graduate Employment Rate)

 

 

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  คว้าที่ 1 ของประเทศ - ที่ 3 ของอาเซียน

รศ.เกศินี กล่าวว่า สิ่งที่ทำให้ มธ. ได้รับการจัดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศไทย และอันดับ 3 ของอาเซียน คือความก้าวหน้าใน 3 ด้านสำคัญ ซึ่งสะท้อนผ่านคะแนนที่ได้รับเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ได้แก่

   1. ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจากผู้จ้างงาน คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 23.1 ในปี 2020 เป็น 29.1 ในปี 2022       

   2. ความสำเร็จของศิษย์เก่า คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 75.7 ในปี 2020 เป็น 81 ในปี 2022 และ

   3. ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับนายจ้าง คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 9.5 ในปี 2020 เป็น 19.2 ในปี 2022

 

“หากเปรียบเทียบผลการจัดอันดับย้อนหลังกลับไป 3 ปี จะพบว่าธรรมศาสตร์ได้รับคะแนนดีขึ้นในทุกมิติ สะท้อนถึงคุณภาพของมหาวิทยาลัยในด้านวิชาการ ซึ่งไม่เพียงแต่วิชาการดีเลิศหากแต่ยังให้ความสำคัญกับรับใช้สังคมและประชาชน โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ด้วย ดิฉันมั่นใจว่าในปีหน้า เราจะได้รับการจัดอันดับในตำแหน่งที่ดีขึ้นอีก ซึ่งหมายถึงชื่อเสียงและการยอมรับของประเทศไทยในเวทีโลก” รศ.เกศินี กล่าว.