รู้แล้วอึ้ง! ขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช เอกชนได้เงินค่าผ่านทางเท่าใด

27 พ.ย. 2567 | 04:28 น.
อัปเดตล่าสุด :27 พ.ย. 2567 | 04:34 น.

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ประมาณการรายได้เอกชนจากเงินค่าผ่านทางหากขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช หรือ ทางด่วนขั้นที่ 2 ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน เป็นจำนวนเท่าใด? ที่นี่มีคำตอบ

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “รู้แล้วอึ้ง! ขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช เอกชนได้เงินค่าผ่านทางเท่าใด?” ระบุว่าผู้สนใจหลายคนอยากรู้ว่าเอกชนผู้รับสัมปทานจะได้รับเงินค่าผ่านทางจากการขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน เป็นจำนวนเท่าใด?

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้สัมปทานทางด่วนศรีรัชแก่เอกชนเป็นระยะเวลาดังนี้

(1) เริ่มต้นให้สัมปทาน 30 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2533 จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

 

(2) ขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ออกไป 15 ปี 8 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578

(3) กำลังจะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ออกไป 22 ปี 5 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2578 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601

จากสมมติฐานที่ใช้ในการประมาณการรายได้ และข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำให้สามารถคำนวณรายได้ค่าผ่านทางได้ทั้งของ กทพ. และของเอกชน

สมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณรายได้ค่าผ่านทางมีดังนี้

(1) ช่วงระยะเวลาในการคำนวณอยู่ระหว่างปี 2568-2601 ซึ่งปี 2568 เป็นปีแรกที่จะเริ่มใช้สัญญาใหม่ (หากมีการขยายสัมปทานครั้งที่ 2) ส่วนปี 2601 เป็นปีสุดท้ายของการขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ออกไป 22 ปี 5 เดือน (นับจากปี 2578 เนื่องจากการขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ซึ่งเริ่มในปี 2563 จะสิ้นสุดลงในปี 2578)

(2) อัตราค่าผ่านทางเป็นไปตามที่ กทพ.กำหนด โดยมีการปรับเพิ่มแบบคงที่ทุก 10 ปี

(3) สัดส่วนการแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ. กับ เอกชน

ก. รายได้จากทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ส่วน A (ถนนรัชดาภิเษก-ทางแยกต่างระดับพญาไท-ถนนพระราม 9) และส่วน B (ทางแยกต่างระดับพญาไท-บางโคล่) เป็นของ กทพ. 50% และของเอกชน 50%

ข. รายได้จากทางด่วนศรีรัช ส่วน C (ถนนรัชดาภิเษก-ถนนแจ้งวัฒนะ) และส่วน D (ถนนพระราม 9-ถนนศรีนครินทร์) รวมทั้งทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) เป็นของเอกชนทั้งหมด 100%

การคำนวณรายได้ในช่วงระยะเวลาปี 2568-2601 พบว่ามีรายได้ค่าผ่านทางทั้งหมดประมาณ 5.6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ของ กทพ.ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท และของเอกชนประมาณ 3.5 แสนล้านบาท นั่นคือ เอกชนได้รายได้มากกว่า กทพ.ถึง 67%

ถ้าไม่มีการขยายสัมปทานครั้งที่ 1 ในปี 2563 ที่ผ่านมา และที่เตรียมจะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 อีกในเร็วๆ นี้ รายได้ทั้งหมดก็จะตกเป็นของ กทพ.

แล้วจะขยายสัมปทานไปอีกทำไม ? 

หมายเหตุ: ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ผมและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ทั้งนี้ก็เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ ทั้งสิ้นเท่านั้นเอง