จากอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังอ่อนพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในช่วงวันที่ 1 – 6 ตุลาคม 2564 ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น
ซึ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จังหวัดลำปาง ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และนครสวรรค์ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเมื่อวันที่1 ตุลาคม 2564 ที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 2,666 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีปริมาณน้ำหลากจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาอีก 392 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ด้วยการตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้งสองฝั่งรวม 376 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งเต็มความสามารถที่รับได้ในขณะนี้ ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 2,784 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่เนื่องจากบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเกิดภาวะน้ำท่วมขังชุมชนริมตลิ่งนอกคันกั้นน้ำจำนวนมาก ซึ่งกำลังได้รับความเดือดร้อน ต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
ดังนั้น กรมชลประทาน จึงมีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ว่างเหนือเขื่อนเจ้าพระยาชะลอน้ำไว้ โดยระดับน้ำบริเวณด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอาจจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20 เซนติเมตร ทำให้มีพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบได้แก่
โดยปริมาณน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งทั้งสองฝั่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมน้ำนอกคันกั้นน้ำประมาณ 700 ครัวเรือน
นายประพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมชลประทานได้ร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนจังหวัด บริษัทหรือห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้าง เขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำในระยะนี้อย่างใกล้ชิด
"หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา"