วันที่ 2 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสาน 3 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท เตรียมพร้อมรับมือน้ำล้นตลิ่งจากระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำกับกรมชลประทาน พบว่า ช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2564 จังหวัดนครสวรรค์มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 วัดได้ 2,666 ลูบาศก์เมตรต่อวินาที แม่น้ำสะแกกรังและลําน้ำสาขาวัดได้ประมาณ 392 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทําให้มีปริมาณน้ําไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาประมาณ 2,784 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ขณะที่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเกิดสถานการณ์อุทกภัยบริเวณชุมชนริมตลิ่งนอกคันกั้นน้ำ จึงจำเป็นต้องใช้พื้นที่ว่างเหนือเขื่อนเจ้าพระยาชะลอน้ำไว้ ทำให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นประมาณ 0.20 เมตร ส่งผลกระทบบริเวณอําเภอเมืองชัยนาท อําเภอวัดสิงห์ และอําเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท อําเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี และอําเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยน้ำจะเอ่อล้นตลิ่งไหลเข้าพื้นที่การเกษตรและชุมชนริมน้ำนอกคันกั้นน้ำประมาณ 700 ครัวเรือน
ดังนั้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) จึงประสาน 3 จังหวัดได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี และชัยนาท รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งจากตลิ่งจากระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น
โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามข้อมูลการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดและประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยาและลำน้ำสาขา เช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหารริมน้ำ แพเรือโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
ทั้งนี้ขอให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำและประกาศเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด รวมถึงเตรียมพร้อมในการขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงให้พ้นจากแนวน้ำท่วม และระมัดระวังอันตรายจากการสัญจรทางน้ำ อีกทั้งประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย เพื่อเตรียมความพร้อมปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง