ผู้ประสบปัญหาน้ำท่วม อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากระดับน้ำที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการเปิดประตูระบายน้ำเข้าทุ่งบางบาล ซึ่งเป็นทุ่งแก้มลิงแล้วก็ตาม ชาวบ้าน ต.บางชะนี , บ้านกุ่ม, บางหลวง, บางหัก บ้านเรือนชาวบ้านจมน้ำ ต้องอพยพขึ้นบนท้องถนนในทุกเส้น ในบางจุดมีการจัดทำคันดินกั้นน้ำ เมื่อมีฝนตกลงมาทำให้ดินบนคันดินไหลลงบนพื้นถนน ทำให้การสัญจรไปมาเป็นไปอย่างทุลักทุเล
โดยชาวบ้านสะท้อนว่า อยากให้ทางการนำห้องน้ำสำเร็จรูปมามอบให้ชาวบ้านได้ใช้บ้าง โดยเฉพาะบ้านที่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ได้รับความเดือดร้อนอย่างนัก ตอนนี้บางแห่งใช้ห้องน้ำของโรงเรียน วัด ที่ยังไม่ถูกน้ำท่วมขัง ซึ่งมีไม่เพียงพอ และในเวลากลางคืน ก็จะเป็นอันตราย
สำหรับความช่วยเหลือ เป็นไปอย่างเชื่องช้า เมื่อเทียบกับระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ต้นไม้ พืชผลทางการเกษตรเสียหายเกือบทั้งหมด
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้มอบยาทาแก้น้ำกัดเท้าให้กับชาวบ้าน ต.บางชะนี ต.บ้านกุ่ม อ.บางบาล และที่ ต.โผงเผง อ.ป่าโมก จ.อ่างทอง ในบางพื้นที่
นอกจากนี้ ทีมงานจากพรรคกล้า นำโดย นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี เลขาธิการพรรค นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค และนายประวิทย์ สุวรรณรักษา ซึ่งเป็นคนพื้นที่ เข้าช่วยเหลือแจกถุงยังชีพให้กับชาวบ้าน ต.บางชะนี และที่ ท่าดินแดง อ.ผักไห่ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก
นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า ปัญหาการบริหารจัดการสำคัญมาก ขณะนี้มีปัญหาการแจ้งเตือนภัยกับประชาชนที่อยู่ใกล้แม่น้ำ เพราะจากที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่นครสวรรค์และชัยนาท พบว่าทางมหาดไทยยังล่าช้าอยู่ นายกฯ อบต. หมดวาระวันที่ 30 กันยายน พอดี ข้าราชการถึงคราวปรับย้าย จึงเกิดเกียร์ว่างในการดูแลประชาชน อยากให้มีการทำงาน ต่อเนื่องไร้รอยต่อ
และสิ่งที่น่าห่วงต่อไปคือ ทางผู้ว่า กทม. ต้องเตรียมรับมือน้ำฝนอย่างเต็มที่ ควรเร่งเตรียมพื้นที่รับน้ำ คลอง บึงรับน้ำ ท่อระบาย และระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ไปออกทะเลที่ปากน้ำโดยด่วนก่อนน้ำทะเลหนุนจะอุดปากทางช่วง 15 ตุลาคม ช่วงนี้การบริหารน้ำท่วมสำคัญที่สุด
ส่วนที่โรงเรียนบางบาล นายวรพจน์ ดุริยศิลป์ ครูดนตรี ของโรงเรียนบางบาล ได้ไลฟ์สดให้เห็นถึงกระแสน้ำบริเวณด้านหลังโรงเรียน คณะครู นักเรียน และชาวบ้านระดมกันกรอกทรายทำแนวกั้นน้ำบริเวณรอบโรงเรียนเสริมแนวคันดินที่ทำเสริมไว้ตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ยังสามารถป้องกันน้ำไม่ให้เข้าโรงเรียนไปได้ แต่ก็ไม่สามารถประมาทได้ เนื่องจากกระแสน้ำแรงมาก
ด้าน ดร.องอาจ กิตติคุณชัย คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด กล่าวในรายการ Future talk by NXPO ว่า ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง สามารถแก้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ไม่ได้แก้ด้วยการเมือง รัฐบาลต้องบริหารจัดการและลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะภาคการเกษตรถึงเวลาที่จะนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาวางแผนการเพาะปลูก พยากรณ์สภาพภูมิอากาศ เพื่อกำหนดการเก็บเกี่ยวให้มีคุณภาพและได้ราคาสูงสุดที่สุด เป็นเรื่องที่เหลือบ่ากว่าแรงที่รัฐจะดำเนินการ เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าทั้งด้านการเงินและสังคม หากไม่ทำ ไม่มีทางที่เกษตรกรจะลืมตาอ้าปากได้ และนักลงทุนเองก็จะย้ายฐานการลงทุนไปต่างประเทศ ผลผลิตทางการเกษตรของไทยก็จะไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เกษตรกรไทยก็จะอ่อนแอลงไปเรื่อย ๆ