สรุป เยียวยาเอสเอ็มอี มีกี่โครงการ ลงทะเบียนทางไหนได้บ้าง เช็คที่นี่

11 ต.ค. 2564 | 03:21 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2564 | 15:57 น.

รัฐบาลหนุนมาตรการเยียวยาเอสเอ็มอี ไมโครเอสเอ็มอีเข้าถึงสภาพคล่อง มีทั้งหมดกี่โครงการ และสามารถติดต่อได้ช่องทางไหน สรุปให้ที่นี่

วันที่ 11 ต.ค.64 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้าในโครงการ/มาตรการเยียวยาเอสเอ็มอี ตัวเลขการปล่อยสินเชื่อภายใต้พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 หรือ ที่เรียกว่า พ.ร.ก.สินเชื่อฟื้นฟู ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2564 แบ่งเป็น

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก

  1. โครงการสินเชื่อฟื้นฟู มีสินเชื่อได้อนุมัติแล้วจำนวน 1.08 แสนล้านบาท ผู้ได้รับความช่วยเหลือจำนวน 3.5 หมื่นราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7.8 หมื่นล้านบาท 2.5 หมื่นราย) คิดเป็นวงเงินอนุมัติเฉลี่ยจำนวน 3.07 ล้านบาท/ราย โดยประมาณร้อยละ 45  ของผู้ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมดเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
  2. โครงการพักทรัพย์ พักหนี้  มีมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับโอนแล้ว 1.5 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือไปแล้ว 112  ราย (เดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 1 พันล้านบาท มี 16 ราย) รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการที่สนใจรายอื่น ๆ อยู่ระหว่างการเจรจาด้วย

ขณะเดียวกัน การค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) คาดว่าจนถึงสิ้นปีนี้ ยอดการค้ำประกันจะเกิน 2 แสนล้านบาท โดยประมาณ 1 แสนล้านบาท มาจากการค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท. และอีกประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท มาจากการค้ำประกันตามปกติของบสย.

ทั้งนี้ บสย. เพิ่งได้ขยายกรอบวงเงินค้ำประกันสินเชื่อฟื้นฟูของ ธปท.ออกไปอีก 1 แสนล้านบาท และปรับหลักเกณฑ์ให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่มเอสเอมอีที่เปราะบาง ได้ลดภาระต้นทุนค่าธรรมเนียม และเพิ่มโอกาสได้วงเงินสินเชื่อเพิ่ม ซึ่งรายละเอียดประกอบด้วย
 

  1. ปรับลดค่าธรรมเนียมค้ำประกันทันทีตั้งแต่ปีแรก สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และ กลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง จ่ายเริ่มต้นเพียง 1% ต่อปีต่อเนื่อง 4 ปีแรก รวม 13% ตลอดระยะเวลา 10 ปี 
  2. เพิ่มโอกาสผู้ประกอบการกลุ่มไมโคร และกลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง ได้รับวงเงินสินเชื่อเพิ่มขึ้นสูงสุด 50 ล้านบาทต่อราย

  3. เพิ่มความมั่นใจให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อโดย บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเต็ม 100% ในกลุ่มไมโครจากเดิม 90%  และ กลุ่มเอสเอ็มอีเปราะบาง จากเดิม 80%  



“นายกรัฐมนตรีติดตามความคืบหน้าการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด และอยากให้ผู้ประกอบการไมโครและเอสเอ็มอี มาขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้มากขึ้น เพื่อเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากมาตรการช่วยเหลือพิเศษ อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และมาตรการที่จะออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้สามารถเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปด้วย”  นางสาวรัชดา กล่าว