เปิดประตูระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนชาวปทุมธานี

14 ต.ค. 2564 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ต.ค. 2564 | 09:54 น.

เปิดประตูระบายน้ำด้านตะวันออก บรรเทาความเดือดร้อนชาวปทุมฯ น้ำเหนือไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเฉลี่ย 2,742 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าคันกั้นน้ำ 1.42 ม. เฝ้าระวังต่อเนื่อง

พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำเหนือไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ว่าวันนี้(06.00 น.) ปริมาณน้ำของกรมชลประทานที่อำเภอบางไทรตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านกทม. เฉลี่ย 2,742 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณปากคลองตลาดของ กทม. อยู่ที่ระดับ 1.58 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังต่ำกว่าระดับคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครอยู่ประมาณ 1.42 เมตร จึงยังไม่ได้ผลกระทบจากน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนเจ้าพระยาและจากน้ำขึ้นเต็มที่แต่อย่างใด สำหรับระดับน้ำแนวคันกั้นน้ำด้านตะวันออก ณ ประตูระบายน้ำคลองสอง (สายใต้) อยู่ในระดับปกติ +0.97 (ระดับวิกฤติ +1.80) ประตูระบายน้ำแสนแสบ (มีนบุรี) อยู่ในระดับปกติ +0.45 (ระดับวิกฤติ +0.90) ประตูระบายน้ำลาดกระบัง อยู่ในระดับปกติ +0.07 (ระดับวิกฤติ +0.60) โดยวันนี้ฐานน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะขึ้นสูงสุดเวลา 15.04 น. ที่ระดับ +1.10 ม.รทก. 

เปิดประตูระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนชาวปทุมธานี

ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา (07.00 น.) : พื้นที่กรุงเทพมหานครฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง ปริมาณฝนสูงสุดที่จุดวัดสถานีสูบน้ำคลองบางจาก เขตบางแค 20.0 มม. จุดวัดคลองทวีฯ - คลองภาษีฯ เขตหนองแขม 13.5 มม. จุดวัดสถานีสูบน้ำคลองชักพระ เขตตลิ่งชัน 8.0 มม. ไม่มีรายงานจุดเร่งการระบายน้ำในถนนสายหลัก 

เปิดประตูระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนชาวปทุมธานี

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศวันที่ 13 ต.ค. 64 ลักษณะอากาศทั่วไปมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เข้าสู่พายุโซนร้อนกำลังแรง "คมปาซุ" บริเวณทะเลใต้ตอนบน ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก และมีฝนตกหนักบางแห่ง 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือไหลหลากและเร่งระบายน้ำ กรุงเทพมหานครได้ทำการระบายน้ำในแนวคลองหกวาสายล่าง โดยเปิดประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้  ประตูระบายน้ำคลองสามวา และประตูระบายน้ำคลองพระยาสุเรนทร์ (ตอนหนองใหญ่) เพื่อช่วยระบายน้ำจากปทุมธานีผ่านเข้ามายังพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยใช้อาคารบังคับน้ำที่มี ได้แก่ ประตูระบายน้ำ สถานีสูบน้ำ อุโมงค์ระบายน้ำในการทำหน้าที่เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งได้มีการเดินเครื่องสูบน้ำตลอดเวลา และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ รวมไปถึงการควบคุมระดับการ เปิด-ปิด ประตูระบายน้ำให้มีความสัมพันธ์กับการเดินเครื่องสูบน้ำ และปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ 

เปิดประตูระบายน้ำ บรรเทาความเดือดร้อนชาวปทุมธานี