วันที่ 18 ตุลาคม 2564 ฐานเศรษฐกิจ ได้รับงานการยืนยันข่าวเศร้า ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานคณะที่ปรึกษามูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และประธานกรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริฯ ได้ถึงแก่กรรมแล้ว
ม.จ.จุลเจิม ยุคล โพสต์เฟซบุ๊กว่า "18 ตุลาคม 2564 มาพร้อมกับข่าวร้ายกับการจากไปของพี่ชายที่ รักและเคารพนับถือ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ผู้ซึ่งชีวิตมีแต่งาน ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิปิดทองหลังพระ ฯลฯ และก่อนหน้านั้นคือ คุณชาย ดิศนัดดา เป็นราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี รู้สึกเศร้าจนไม่อยากเขียนอะไร"
ทั้งนี้ในเวลาต่อมาได้รับการยืนยันว่า ม.ร.ว. ดิศนัดดา ได้ถึงแก่กรรมเมื่อช่วงเวลาราว 11 โมงที่ผ่านมา ส่วนรายละเอียดต่างๆต้องให้ทางครอบครัวออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป
สำหรับประวัติของ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล มีดังนี้
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล สำเร็จการศึกษาปริญญาบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาเศรษฐศาสตร์ จาก Indiana University Bloomington ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2507 เคยดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญในอดีต โดยรับราชการในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเคยดำรงตำแหน่ง ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ได้รับการโปรดเกล้าฯ ใน พ.ศ. 2510 ให้ดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสนองงานสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วยความวิริยะอุตสาหะ อุทิศตนเต็มกำลังความสามารถอย่างต่อเนื่อง ในการปฏิบัติงานโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นระบบในการเพิ่มพื้นที่ป่าของดอยตุง จากภูเขาหัวโล้นให้กลายเป็นผืนป่าอันสมบูรณ์ ส่งเสริมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นที่สูงอันเป็นแหล่งต้นน้ำของประเทศ สร้างโอกาสทางการศึกษาให้เยาวชนบนที่สูง พัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สร้างงานและสร้างรายได้ให้คนในชุมชน ลดปัญหายาเสพติดได้อย่างสมบูรณ์
ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงฯ ได้รับการชื่นชมและยอมรับจากรัฐบาลต่างประเทศให้ขยายผลงานไปสู่ประเทศเมียนมาร์ ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศอัฟกานิสถาน ได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาบนพื้นที่สูงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ
ม.ร.ว. ดิศนัดดา ดิศกุล ได้ก่อตั้งมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ได้บูรณาการองค์ความรู้ในโครงการพระราชดำริต่างๆ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่หลายจังหวัด มุ่งเน้นแนวทางหลักในการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศไทย โดยเน้นในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ ดินและเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ
ผลงานในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ส่งเสริม บูรณาการ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาของประชาชนในชนบท ตามพันธกิจที่มติคณะรัฐมนตรีมอบหมาย คือ จัดการความรู้และส่งเสริมการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างเป็นระบบกว้างขวาง จนกระทั่งเป็นแนวทาง การพัฒนาหลักของประเทศทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นนํ้า กลางนํ้า และปลายนํ้า
จากการประเมินเบื้องต้นที่น่าสนใจ พบว่าพื้นที่รับประโยชน์จากการบริหารจัดการนํ้าชุมชนตามแนวพระราชดำริ 275,714 ไร่ จากการร่วมกับชุมชนและราชการพัฒนาแหล่งนํ้าและสร้างฝาย 6,259 แห่ง
รายได้เฉลี่ยของเกษตรกรเพิ่มขึ้นจาก 109 ล้านบาท (เมื่อเริ่มโครงการ ปี 2553) เป็น 2,676 ล้านบาท
รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ สูงกว่าครัวเรือนในพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างมีนัยสำคัญ คือ 134,890 บาท (คิดเป็นร้อยละ 64) และผ่านพ้นเส้นความยากจนแล้วร้อยละ 74
เกิดพื้นที่ป่าและป่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นรวม 106,580 ไร่ (จังหวัดน่าน เพชรบุรี และ อุทัยธานี)
การพัฒนาอาชีพทางเลือก ทำให้เกิดกลุ่มกองทุนที่บริหารจัดการโดยชุมชน จำนวน 66 กลุ่ม มีสมาชิก 2,150 ครัวเรือน มีเงินในกองทุนหมุนเวียน 12 ล้านบาท