ปอยเหลินสิบเอ็ด และออกหว่า จ.แม่ฮ่องสอน
- ปอยเหลินสิบเอ็ด หรือ ปอยเดือนสิบเอ็ด เป็นงานประเพณีเดียวของประเทศไทยที่มีช่วงระยะเวลาการจัดงานยาวที่สุดคือ ตลอด 1 เดือนเต็ม จัดขึ้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีขบวนแห่จองพารา หรือ ปราสาทกระดาษที่ตกแต่งอย่างสวยงาม ซึ่งจะแห่กันในช่วงกลางคืน และมีการฟ้อนรูปสัตว์ โต หรือ จามรี นกกิงกาหล่า หรือ กินรี กินรา กาเบ้อ หรือผีเสื้อ ไปพร้อมกับขบวนแห่
- ส่วน“ออกหว่า” หมายถึง การออกจากฤดูฝน เป็นงานประเพณีออกพรรษาตามความเชื่อเฉพาะของชาวอำเภอแม่สะเรียงโดยงานจะเน้นที่ “การตักบาตรตีสี่” บริเวณหน้าบ้านของตนเอง ตลอดทั้ง 3 วันเทศกาล และจะตักบาตรอาหารสดในวันแรก เนื่องจากชาวอำเภอแม่สะเรียงเชื่อว่า การตักบาตรที่หน้าบ้านของตนเองจะเป็นสิริมงคลต่อบ้านและคนในครอบครัว นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโคมและซุ้มราชวัติตกแต่งบ้านเรือน ตลอดจนมีขบวนแห่เทียนเหง หรือเทียนพันเล่ม ซึ่งประกอบด้วยขบวนแห่ต้นโคม เครื่องไทยทาน และการแสดงศิลปะรำฟ้อนต่างๆ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการกลับจากสวรรค์ขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นเดียวกัน
ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม
- ประเพณีไหลเรือไฟ จังหวัดนครพนม เป็นพิธีกรรมทางพุทธศาสนา จัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 คือ วันออกพรรษา เป็นประเพณีโบราณของชาวอีสาน โดยเฉพาะผู้อยู่อาศัยในแถบลุ่มแม่น้ำโขง โดยมาจากคติความเชื่อว่า เป็นการลอยเครื่องสักการะไปกับเรือไฟเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที ในชมพูทวีปไกลโพ้น
บั้งไฟพญานาค
- บั้งไฟพญานาค ไม่ใช่ทั้งเรือไฟและผาสาด หากแต่เป็นดวงไฟสว่าง ซึ่งพวยพุ่งขึ้นจากลำแม่น้ำโขงพุ่งตรงดิ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า ในเขตจังหวัดริมแม่น้ำโขงไล่เรียงตั้งแต่เมืองเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ จนถึงอุบลราชธานี และจะมีกำหนดพุ่งขึ้นไปอย่างแน่นอนในโอกาสเทศกาลออกพรรษา 15 ค่ำเดือน 11 พอดี
ประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง จังหวัดสกลนคร
- มีการสร้างปราสาทจากขี้ผึ้งขึ้นอย่างสวยงามและยิ่งใหญ่ ด้วยจุดมุ่งหมายให้เป็นปราสาทเพื่อรับเสด็จการกลับมาขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถือเป็นประเพณีงานบุญสำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดสกลนคร
ที่มาข้อมูล :วารสารวัฒนธรรม กรมส่งเสริมวัฒนธรรม