ขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) สายพันธุ์เดลตาพลัสแล้ว 1 รายที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยความน่ากลัวของเชื้อสายพันธุ์ดังกล่าวก็คือมีการแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 15%
ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
ย้อนไปเมื่อช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ………ที่พบเดลตา ที่แคมป์คนงานที่หลักสี่ และ ทางการประกาศ ไม่ต้องวิตก เพราะเจอไม่กี่ราย และคุมสถานการณ์ได้
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เดือนมิถุนายน ย้ำแบบเสียงดังฟังชัดเกี่ยวกับประเด็น “สงครามโควิด : ทำไมต้องบุกเร็ว-แรง”
จะเกิดอะไรขึ้นถ้ามีสาย “เดลตา” หรือ “เบตา” เข้ามาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศไทย โดยที่สายพันธุ์ปกติยังควบคุมไม่ได้ด้วยซ้ำ และ...ทำไมเราต้องบุก “เร็ว”-“แรง” ?
นั่นเป็นเพราะว่าความสามารถในการแพร่กระจายของโควิดเก่งขึ้นเรื่อยๆ ตามการผันตัวของรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งสำคัญที่เอื้ออำนวยให้มีการติดเชื้อเก่งขึ้น สร้างไวรัสปริมาณมากขึ้น หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันเก่งขึ้น ประกอบกับความเบื่อบ้าง...ความไม่ใส่ใจวินัย รวมทั้งจากความจน ความท้อแท้ของคน ความหดหู่สิ้นหวัง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า สายเดลตา (อินเดีย) ที่พบที่หลักสี่ 21 พฤษภาคม และเป็นในชุมชนแล้ว (แม้จะเป็นในแคมป์คนงาน) ต้องถือว่าเป็นการแพร่ทั่วไปแล้ว เพราะไม่สามารถสืบทั้งต้นตอ และทิศทางการแพร่กระจายได้ชัดเจน และทางการประกาศยืนยันในเวลาต่อมาว่ากระจายทั่วไปจริง
ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมสายเบตาหรือแอฟริกาที่พบในลักษณะเดียวกันในภาคใต้ในชุมชนเช่นกันที่ควรจะรุนแรงมากกว่าและจากที่ห้องปฏิบัติการของเราพบสายเดลตาเนิ่นนานจากตัวอย่าง 13 พฤษภาคม แล้ว
และ วันนี้ 24 ตุลาคม 2564 มีเดลต้าพลัส 1 ราย ในชุมชน ทางการประกาศไม่ต้องกังวล
น่าจะต้องเปลี่ยนการสื่อสารว่า
1.การเร่งการฉีดวัคซีน ต้องทำมากกว่านี้ ขณะนี้สองเข็มได้ประมาณ 40% แต่ถ้าพิจารณาถึงประชาชนที่ฉีดสองเข็มไปนานแล้ว ตัวเลขดังกล่าว ที่จะสู้กับไวรัสได้จะน้อยกว่า 40%เพราะภูมิหายหมดแล้ว
2.การที่พบวาเรียนท์ย่อย นอกจาก เดลตาพลัส แสดงถึงการที่มีการกระจัดกระจายแพร่ระบาดของไวรัสไปอย่างเงียบๆ ตลอดเวลา จนในที่สุดไวรัสจะปรับตัวเองให้เก่งขึ้นในการแพร่กระจายนั่นก็คือในการหลบหลีกวัคซีนได้มากขึ้น
3.ต้องยอมรับว่าการฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนังจะขจัดปัญหาเรื่องการขาดแคลนวัคซีน และสร้างภูมิคุ้มกันให้คนไทยทั้งประเทศได้อย่างรวดเร็วที่สุดรวมทั้งลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอย่างหนาตาในผู้ได้รับวัคซีนในขณะนี้
4.ต้องการเศรษฐกิจดีเปิดประเทศอย่างสง่างามต้องมีการเตรียมพร้อมที่ดีไปพร้อมกันอย่างรีบด่วน
บทเรียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 27 ตุลาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์ข้อมูล โควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 8452 ราย
ติดในระบบ 7654 ราย
ติดจากตรวจเชิงรุก 631 ราย
ติดในสถานกักตัว 7 ราย
ติดในเรือนจำ 160 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,846,452 ราย
สะสมทั้งหมด 1,875,315 ราย
หายป่วย 8449 ราย
สะสม 1,758,297 ราย
รักษาตัวอยู่ 98,096 ราย
โรงพยาบาลหลัก 42,762 ราย
โรงพยาบาลสนาม 47,334 ราย
แยกกักที่บ้าน 6255 ราย
อาการหนัก 2355 ราย
ใช้เครื่องช่วยหายใจ 534 ราย
เสียชีวิต 57 ราย
สะสมระลอกที่สาม 18,828 ราย
สะสมทั้งหมด 18,922 ราย
ติดเชื้อเข้าข่าย 2653 ราย
สะสม 256,879 ราย
ฉีดวัคซีนแล้ว 72 ล้านโดส