รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
เผยโฉมมาแล้วสำหรับมาตรการผ่อนคลายรองรับการท่องเที่ยว ที่กทม.ประกาศออกมาเมื่อวานตาม https://www.prbangkok.com/th/covid/detail/19/6041 โดยให้มีผลในเดือนพฤศจิกายนก่อน
จุดล่อแหลมที่น่าจะเรียกแขกได้มาก คงเป็นการให้ดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ เฉพาะในร้านที่ได้รับเครื่องหมาย SHA (ไม่ใช่ SHA+ เสียด้วย) แต่ได้ไม่เกินสามทุ่ม
เช่นเดียวกับจุดล่อแหลมอีกอย่างที่ให้มีกิจกรรมรวมคนได้ไม่เกิน 1,000 คนหรือถ้ามากกว่านี้ต้องขออนุญาต ปัญหาอยู่ที่ว่าจะกำกับดูแลกันได้จริงแท้แค่ไหน ส่วนคุณภาพอากาศในสถานบริการต่างๆ ที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ก็ยังไม่มีการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดนอกเหนือจากจำกัดจำนวนคนเข้าไปใช้บริการ
ขณะนี้แม้ยอดผู้ป่วยรายใหม่ในกทม.จะลดต่ำกว่าพันมาหลายวันแล้ว แต่ยังมีผู้ป่วยอาการหนักตกค้างอยู่พอควร ฝ่ายที่รับผิดชอบน่าจะต้องประกาศให้สาธารณะทราบด้วยว่า จะทบทวนมาตรการที่ออกใหม่นี้เมื่อไร เช่นถ้าตัวเลขผู้ป่วยอาการหนักและ/หรือผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นไปถึงแค่ไหน เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้มีจุดหมายร่วมกันในการจับตาเฝ้าระวังการระบาดของโรครอบใหม่
เมื่อวานซืนรับฟังข้อมูลสถานการณ์โควิด-19 (covid-19) ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าสัดส่วนเชื้อสายพันธุ์เดลตาในพื้นที่ส่วนล่างของประเทศจะขึ้นมาใกล้เคียงกับสายพันธุ์แอลฟาแล้ว แต่สัดส่วนผู้ป่วยหนักต่อผู้ป่วยทั้งหมดยังไม่เปลี่ยนแปลงคือไม่เกิน 5% ทั้งที่อัตราการฉีดวัคซีนยังต่ำอยู่ ทำให้ข้อสงสัยว่าเดลตาจะก่อโรครุนแรงกว่าแอลฟายังไม่เป็นจริง
พอดีกับมีข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดเชื้อของอเมริกาเผยแพร่ออกมาทาง https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/70/wr/mm7043e1.htm... จึงช่วยตอกย้ำความเชื่อส่วนตัวที่ว่า การระบาดระลอกสี่ในบ้านเราที่ยังสยองขวัญอยู่ไม่คลายนั้น เดลตาเพียงแค่ทำให้ระบาดเร็วขึ้นแต่ไม่ได้รุนแรงขึ้น ที่เห็นเสียหายบาดเจ็บล้มตายกันมากมายนั้น น่าจะมาจากฝีมือการควบคุมโรคที่ไม่ทันการของฝ่ายนโยบายเสียมากกว่า
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 31 ตุลาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า
ติดเชื้อเพิ่ม 8859 ราย
ติดในเรือนจำ 330 ราย
สะสมระลอกที่สาม 1,883,161 ราย
สะสมทั้งหมด 1,912,024 ราย
หายป่วย 8253 ราย
สะสม 1,792,128 ราย
รักษาตัวอยู่ 100,691 ราย
เสียชีวิต 47 ราย
สะสมระลอกที่สาม 19,111 ราย
สะสมทั้งหมด 19,205 ราย