ประเทศไทยจะเปิดรับท่องเที่ยวจาก 46 ประเทศเข้ามาท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 64 ที่จะถึงนี้ใน 17 จังหวัดนำร่อง ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่าย เนื่องจากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศเองก็ยังถือว่าอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดลงต่ำกว่า 10,000 ราย เป็นเวลา 9 วันติดต่อกัน ขณะที่จำนวนของผู้ที่ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มตามมาตรฐานก็ยังไม่ครอบคลุมได้เกิน 50% ของประชาชกร
ล่าสุด ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
เปิดประเทศหนึ่งพฤศจิกายน..ต้องห่วงหรือไม่?
หมอดื้อ
สภาพพื้นฐาน
1.เปิดประเทศหมายความรวมถึงคนไทยและคนต่างประเทศในการใช้ชีวิตและเดินทางสัญจร
2.ตัวเชื้อ: ตัวเลขการติดเชื้อมีความเป็นไปได้สูงที่มากกว่าตัวเลขที่รับทราบในปัจจุบัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการตรวจมากหรือน้อยและการใช้ ATK ซึ่งมีข้อจำกัดและหลุดรอดได้มาก เชื้อที่อาจหลุดรอดจากต่างประเทศมีความเป็นไปได้ และลักษณะหน้าตาจะผิดเพี้ยนจากที่มีในประเทศและประสมควบรวมกันต่อไป
3.การตรวจ : ในปัจจุบันแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีการตรวจคัดกรองโดยไม่มีพิธีรีตองโดยกระบวนการพีซีอาร์ ที่ต้องทำได้ทั่วทุกหัวระแหง ทำให้ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ความเป็นจริงที่อาจจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆได้ และไม่สามารถนำไปสู่การแยกตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.การแพร่กระจาย : ผลกระทบจากการแพร่ แม้จะไม่มีอาการก็ตาม เปิดโอกาสให้ไวรัสมีการปรับแต่งตัวเองและอาจนำไปสู่ความสามารถในการติดและการดื้อวัคซีนมากขึ้น
5.วัคซีน : จำนวนสองเข็ม ที่ ขณะนี้ 40% ควรต้องพิจารณาถึงสองเข็มที่ฉีดไปนานแล้วโดยเฉพาะที่เป็นเชื้อตาย ดังนั้น ตัวเลข ผู้ที่ยังคงมีภูมิป้องกันการติดเชื้อ จะน้อยกว่า และนอกจากนั้น เชื้อที่พัฒนาขึ้นมีความเป็นไปได้สูงที่จะดื้อวัคซีน โดยที่ประสิทธิภาพจะลดลงเรื่อยๆ จนน้อยกว่า 50% หรือแทบไม่ได้เลยโดยเฉพาะกับวาเรียนท์ เบต้า
การฉีดรวดเร็วเชิงรุกคลุม 80-90% และปลอดภัยสูงเป็นการฉีดเข้าชั้นผิวหนังโดยที่ พิสูจน์แล้วทั้งที่เป็นเข็มกระตุ้นตามสองเข็มแรก ที่ไม่ใช่สูตรไขว้ SV AZ ซึ่งได้ผลไม่ดี
การฉีดเข้าชั้นผิวหนังมีการทดสอบแล้วตั้งแต่เป็นเข็มแรกที่เป็น MDN ถ้าไม่สามารถแก้ไขการฉีดวัคซีนทั่วถึงและอย่างปลอดภัยได้ โอกาสที่การติดเชื้อจะแพร่ระบาดลุกลามไปได้ทุกพื้นที่และอาการสีเหลืองส้มและสีแดงจะเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ
6.การรักษา : ที่ควรต้องทำอย่างยิ่ง คือการใช้สมุนไพรในประเทศในลักษณะของการให้ ตั้งแต่นาทีแรกที่ติดหรือน่าจะติด ทั้งนี้ต้องพิจารณาอย่างรีบด่วน และถ่องแทั ถึงยาทางเลือกตัวอื่น ที่มีข้อขัดแย้งและข้อสนับสนุนในเรื่องประสิทธิภาพ ทั้งๆที่ไม่ติดสิทธิบัตรและสามารถผลิตในประเทศไทยได้เองโดยสามารถทำให้ราคาไม่กี่บาท
สิ่งเหล่านี้จะช่วยตรึงไม่ให้อาการของโรคยกระดับขึ้นจนต้องเข้า โรงพยาบาล และสถานพยาบาลในระดับต่างๆและนำไปสู่การรักษา ด้วยฟาวิพิราเวีย โมลนูพิราเวีย ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่ายาเหล่านี้จะช่วยในกรณีที่อาการเป็นสีเหลืองหรือเหลืองแก่จะดีที่สุดและการใช้อย่างมหาศาล เป็นไปได้ที่จะมีการดื้อยาเกิดขึ้น ยาแอนตี้บอดี้ ที่ยับยั้งไวรัสได้ชั่วคราวรวมทั้งที่ลดการอักเสบมีราคาสูงมาก
7.วินัย : สถานการณ์ที่มีการประกาศทุกวัน ถึงตัวเลขที่ลดลง ความรุนแรงที่ดูน้อยลงตามวัฎจักรของโควิด ที่จะบรรเทาเบาบาง ไประยะหนึ่งเมื่อความหนาแน่นของการติดเชื้อมากขึ้นพร้อมกับการ ผันแปรของรหัสพันธุกรรม จึงจะเห็นตัวจริงอีกครั้ง
สภาพประหนึ่ง เสมือนว่าคลี่คลายบวกกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่พังสลายทำให้ต้องมีกิจกรรมทางสังคมและในชุมชนต่างๆเกิดขึ้นรวมทั้งการเปิดโรงเรียน
ผลกระทบ
ถ้าไม่สามารถยกระดับความเข้มแข็งทั้งวัคซีน การตรวจ และการรักษาตั้งแต่นาทีแรกได้ในระยะไม่นาน อาจเผชิญกับสถานการณ์ดื้อวัคซีนด้วยเชื้อ subvariants จนถึง เชื้อใหม่จากการควบรวมสายต่างๆเข้าด้วยกัน และนำไปสู่วิกฤติของระบบสาธารณสุข ที่กระทบคนป่วยทั้งที่เป็นและไม่เป็นโควิด
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยวันที่ 28 ตุลาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 9,658 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,856,110 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 84 ราย หายป่วย 8,526 ราย กำลังรักษา 99,144 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,739,397 ราย