เเหล่งข่าวจากศาลยุติธรรมกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ อดีตประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา ได้ยื่นร้องเรียนการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐ ต่อ คณะกรรมการตุลาการ(กต.)เเละสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช. )ให้ตรวจสอบการกระทำของ นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กุล ประธานแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในศาลอุทธรณ์
ในขณะที่ดำรงตำแหน่ง รองประธานแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ กรณีใช้แอพลิเคชั่นไลน์ ในการหาเสียงเลือกตั้งกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)บุคคลภายนอก ในกรุ๊ปไลน์ “สภาตุลาการ”
ทั้งที่นายอนุรักษ์มีหน้าที่เป็น ก.ต. โดยเรื่องนี้ผิดต่อการปฏิบัติตามจริยธรรมของข้าราชการตุลาการ และเป็นการกระทำผิดวินัยข้าราชการตุลาการ ตามพ.ร.บ.ระเบียบริหารข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา17 วรรคสี่ ประกอบมาตรา62 รวมทั้งขัดต่อข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกรรมการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ พ.ศ. 2561 ข้อ29นั้น
เเหล่งข่าวกล่าวว่า ซึ่งการร้องเรียนไปทาง ป.ป.ช.ดังกล่าว ทราบว่า ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องกลับมาให้ ก.ต.พิจารณา โดยอ้างว่าเพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายใน กต. และขอให้กต.ตรวจสอบเรื่องนี้เอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีมีกระแสข่าวในเเวดวงผู้พิพากษาเเจ้งว่า การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของนายอนุรักษ์ ดังกล่าว ถูกตีตกไป ไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ก.ต. โดยคณะอนุกรรมการก.ต. พิจารณาแล้ว โดยให้ความเห็นว่า” ชื่อบัญชีไลน์ ที่ถูกร้องเรียนดังกล่าว ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นของนายอนุรักษ์หรือไม่ “
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวงการตุลาการมีข้อกังขากับการตรวจสอบดังกล่าวว่า ในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนนั้นไม่มีการเชิญนายอนุรักษ์มาให้ข้อมูลหรือสอบถามเรื่องร้องเรียน แต่อนุกรรมการกต.กลับมีความเห็นในทำนองดังกล่าว และในความจริงแล้วนั้นหากตรวจสอบบัญชีไลน์ดังกล่าวโดยระบบที่ตำรวจเทคโนโลยีสารสนเทศได้ปฏิบัติในการติดตามคนร้ายหลายคดีที่เกิดขึ้นในสังคมออนไลน์ ทั้งที่ใช้ชื่อจริงและนามแฝงในช่วงนี้นั้น ก็น่าจะทราบได้ว่าบัญชีไลน์ดังกล่าวนั้นเป็นของใคร และคงต้องรอติดตามท่าทีของศาลยุติธรรมและนายชำนาญว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อ