“บุหรี่ไฟฟ้า” เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจโยเฉพาะในประเด็นให้บุหรี่ไฟฟ้า “ถูกกฎหมาย" เริ่มจากที่ “นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พยายามผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย
โดยชี้ว่าหากสามารถนำยาสูบมาผลิตบุหรี่ไฟฟ้าได้ จะแก้ปัญหาเรื่องรายได้ให้โรงงานยาสูบเเละเกษตรกร สร้างความประหลาดใจและการถกเถียงกันว่าควรจะถูกกฎหมายหรือไม่
โดยมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าว แต่หนทางทำให้ “บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย” ไม่ได้ง่ายแบบนั้น เพราะแม้แต่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์หรือกระทรวงการคลัง ที่มาจากต่างพรรคการเมืองที่ร่วมเป็นรัฐบาล ก็ไม่ได้เห็นด้วย
เมื่อวันที่ 1 พ.ย.เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา “นายสาธิต ปิตุเตชะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขและนโยบายรัฐบาลไม่มีแนวทางให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าถูกกฎหมาย
ทั้งเพื่อจำหน่าย นำเข้า แต่หากอนาคตพบว่าบุหรี่ไฟฟ้านำเข้าถูกกฎหมายได้ กระทรวงต้องมีมาตรการควบคุม ป้องกัน และให้ความรู้กับประชาชนถึงโทษ พิษ ภัยจากบุหรี่ ควบคู่กันไป
นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนไหวในสังคม ทั้งแพทย์และเครือข่ายด้านสุขภาพ เพราะมีเหตุผลทางวิชาการเป็นจำนวนมากที่สนับสนุนว่าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าผิดกฎหมายเป็นสินค้าถูกกฎหมายน่าจะมีประเด็นต้องพิจารณาจำนวนมาก
ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าสำหรับ “นักสูบหน้าใหม่” ไม่อาจลดการเสพบุหรี่มวนได้ เรื่องนี้สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและยังเป็นผลร้ายต่อการรักษาสุขภาพของประชาชน
ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2560 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จำนวน 10.7 ล้านคน หรือประมาณ 19.1% ซึ่งในภาพรวมมีแนวโน้มที่ลดลงจากปีที่ผ่านๆมา แต่ปัญหาที่พบก็คือ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ในกลุ่มของเยาวชนมีอัตราการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 0.3%
หมายความว่าในแต่ละปีจะมีเยาวชนรายใหม่ที่สูบบุหรี่เพิ่มขึ้นราว 200,000 -300,000 คน ทดแทนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่แล้วเสียชีวิต หรือเลิกสูบไป
ล่าสุด “ความอลวนบุหรี่ไฟฟ้า” เกิดขึ้นเพราะมีการเปิดข้อมูล กลุ่มผู้สนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้า เป็นใคร? ทำเพื่ออะไร? ใครอยู่เบื้องหลัง?
โดยมีสาระสำคัญกล่าวถึง INNCO (องค์กรที่ได้รับทุนจากการสนับสนุนของบริษัทบุหรี่) ว่ามีการชื่นชมแกนนำ "กลุ่มลาขาดควันยาสูบ" เเละบอกว่าเคยเป็นอดีตบอร์ดบริหาร
พร้อมระบุว่า เอกสารภายใน INNCO ระบุ บอร์ดบริหารฯ ได้รับเงินค่าตอบแทนเป็นค่าเดินทางและที่พัก รวมทั้งค่าเบี้ยประชุม
หลังจากที่เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วว่า คนระดับ รมต.ของไทยพบกับเครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่มีความเชื่อมโยงกับ "บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ" เเละไม่ได้พบกันธรรมดา แต่ออกมาแถลงข่าวด้วยกันอีก
"ที่โลกรับรู้ก็มาจากเฟซบุ๊กของ รมต.ดีอีเอสคนดังนั่นเอง โดยท่านรมต.อาจจะยังไม่รู้ว่าการกระทำของท่านขัดต่ออนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกที่ประเทศไทยไปลงนามรับมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งในมาตรา 5.3 ของอนุสัญญาฯ นี้ เป็นการป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมยาสูบหรือผู้ที่กระทำการเพื่อผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบเข้ามาแทรกแซงการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ เพราะผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมยาสูบขัดกับเป้าหมายด้านการสาธารณสุขโดยตรง"
นอกจากนี้ยังมีการระบุว่า เรื่องนี้ไม่ได้ดังเฉพาะในเมืองไทย แต่ดังไกลไปทั่วโลกเมื่อองค์กรที่เครือข่ายสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าในไทยเป็นสมาชิก หรือ The International Network of Nicotine Consumer Organisations (INNCO) ได้ทวิตข้อความแสดงความชื่นชมยินดีกับกลุ่มลาขาดควันยาสูบหรือ ECST ในฐานะสมาชิกและอดีตกรรมการบริหาร INNCO ซึ่งข้อความนี้ก็ถูก รีทวิตไปทั่วและที่น่าสนใจคือคนหนึ่งที่รีทวิตข้อความนี้คือ Derek Yach ที่ขณะรีทวิตเป็นประธานมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ที่ตั้งขึ้นและได้รับการสนับสนุนทุนปีละ 80 ล้านดอลลาร์จากบริษัทบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริสเป็นเวลา 12 ปี
จากรายงานแบบแสดงภาษีของมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ พบการสนับสนุนทุนให้กับ INNCO ดังนี้
กลุ่มลาขาดควันยาสูบพยายามออกมาแก้ตัวว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่เคยได้รับเงินใด ๆ จากบริษัทบุหรี่
แต่เอกสารของ INNCO (ซึ่ง INNCO เป็นองค์กรที่ได้รับทุนจากมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่มาอย่างต่อเนื่อง) ระบุไว้ชัดเจนว่า กรรมการบอร์ดของ INNCO แม้ทำงานในฐานะอาสาสมัคร แต่มีค่าตอบแทนให้เป็นค่าเดินทางและที่พัก รวมทั้งค่าเบี้ยประชุม เเละองค์กรที่เป็นสมาชิกยังมีบทบาทในการวางแผนกิจกรรม อนุมัติและจัดการการเงิน ผ่านกลไกสมัชชาของ INNCO
หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อว่าความพยายามให้การผลักดัน "บุหรี่ไฟฟ้า" ให้ถูกกฎหมายจะเป็นอย่างไรต่อไป การออกมาเเฉเบื้องหลังการวิ่งเต้นครั้งนี้จะส่งผลอย่างไร
บุหรี่ไฟฟ้ามีกฎหมายควบคุมเด็ดขาด
ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ผู้ที่ฝ่าฝืนลักลอบนำเข้าจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของสินค้าหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงให้ริบสินค้า และพาหนะที่ใช้ในการบรรทุกสินค้านั้นด้วย
บุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสินค้าที่ห้ามขายหรือให้บริการ ตามคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ซึ่งกำหนดโทษสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ให้จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ที่กระทำผิดเป็นผู้ประกอบธุรกิจในฐานะผู้ผลิต ผู้สั่ง หรือผู้ที่นำเข้ามาเพื่อขาย ต้องรับโทษเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร?
อุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา ส่วนของน้ำยาที่จะถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบจะประกอบด้วยสารประกอบหลัก ๆ คือ
นิโคติน สารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป เป็นสารที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่
โพรไพลีนไกลคอล ส่วนประกอบในสารสำหรับการทำให้เกิดไอ
กลีเซอรีน สารเพิ่มความชื้นที่จะผสมผสานกับสารโพรไพลีนไกลคอล องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล
สารแต่งกลิ่นและรส สารเคมีที่ใช้กับอาหารทั่วไป มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร