ตามที่คณะกรรมการ ธ.ก.ส.ได้ประชุมเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 วงเงินรวม 13,225 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และป้องกันความเสี่ยงด้านราคาไม่ให้ประสบปัญหาขาดทุน ลดภาระค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุทกภัย โดยที่กลไกตลาดยังคงทำงานเป็นปกติ และประกันรายได้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว 5 ชนิด ได้แก่
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 14,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
- ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน
- ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 11,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน
- ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 12,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะเริ่มจ่ายเงินประกันรายได้รอบแรก ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จำนวน 492,571 ครัวเรือน เป็นเงิน 10,920 ล้านบาท
เกษตรกรสามารถตรวจสอบช่องทางสถานะเกษตรกร-การโอนเงินต่างๆได้ดังนี้
- เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถตรวจสอบสถานะความเป็นเกษตรกรและสมาชิกครัวเรือน (เฉพาะที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรเท่านั้น ซึ่งการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมีหลายหน่วยงานรับผิดชอบ ขึ้นอยู่กับบทบาทและภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ) โดยสามารถคลิกที่นี่
- สามารถตรวจสอบผลการรับการสนับสนุนตามโครงการรัฐ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โดยคลิกที่นี่
- นอกจากนั้นแล้วยังสามารถตรวจสอบผลการโอนเงินได้ทางแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. A-Mobile ตลอด 24 ชั่วโมง และจะมีข้อความแจ้งเตือนเงินเข้าบัญชีผ่าน LINE Official BAAC Family กรณีที่ลูกค้าสมัครใช้บริการ BAAC Connect
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินประกันรายได้-รับเงินภายในกี่วัน
- เกษตรกรจะต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และต้องแจ้งวันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยว เพื่อใช้เป็นข้อมูลช่วงเวลาที่เกษตรกรจะได้รับสิทธิชดเชย โดยกรมส่งเสริมการเกษตรจัดส่งข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำแนกตามช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยวและคำนวณปริมาณผลผลิต โดยใช้พื้นที่ทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวแต่ละชนิดคูณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่เป็นปริมาณผลผลิตที่ต้องชดเชย แต่ต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดไว้ข้างต้น ส่งให้ ธ.ก.ส. เพื่อเป็นข้อมูลในการจ่ายเงิน จากนั้น ธ.ก.ส. จะดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ภายใน 3 วัน นับจากวันที่ได้รับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบจากคณะอนุกรรมการฯ
มาตรการคู่ขนานช่วยเกษตรกร
นอกเหนือจากการประกันรายได้ข้าวแล้ว ยังมีเตรียมมาตรการคู่ขนานเพื่อชะลอการขายในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาข้าว ประกอบด้วย
โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี
- ที่ความชื้นไม่เกิน 15% สิ่งเจือปนไม่เกิน 2% เป้าหมาย 2 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 20,402 ล้านบาท
- กำหนดราคาข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท
- ข้าวเปลือกหอมมะลินอกเขต ตันละ 9,500 บาท
- ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท
- ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท
- ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,600 บาท
- พร้อมช่วยเหลือค่าฝากเก็บตันละ 1,500 บาท
โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
- เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท
- เพื่อให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชนและศูนย์ข้าวชุมชนรวบรวมข้าวเปลือกสำหรับการจำหน่ายหรือเพื่อการแปรรูป