ในวันที่ 15 พ.ย.2564 นี้ หลายโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้กำหนด "เปิดเทอม" ให้นักเรียนไปเรียนที่โรงเรียน ด้วยมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
วันนี้(14 พ.ย.64) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก "ผู้ว่าฯ อัศวิน" ระบุว่า หลังจากที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา กทม. ได้รับวัคซีนเกินร้อยละ 80 และผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม. ก็มีจำนวนลดลง ทำให้โรงเรียนกลับมาเปิดให้นักเรียนได้เรียนที่โรงเรียนอีกครั้งในวันที่ 15 พ.ย.นี้
เพื่อให้เด็กนักเรียนได้กลับมาเรียนหนังสือได้อย่างปลอดภัยจากโรคโควิด-19 กทม. ได้จัดสถานที่ ทำความสะอาด ห้องเรียน โรงอาหาร ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อนเปิดโรงเรียน โดยครู บุคลากรการศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงเรียน มีความพร้อมที่จะจัดการเรียนการสอนที่มี 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้ม อย่างเคร่งครัด ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
และเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการ Sandbox : Safety Zone in School ที่จำกัดนักเรียนในห้องได้ไม่เกิน 25 คน กทม.จะใช้การเรียนการสอนแบบสลับวันเรียน หรือจัดห้องเรียนใหม่ตามสภาพพื้นที่ของแต่ละโรงเรียน ร่วมกับการเรียนการสอนแบบ Online
แต่ถ้าเปิดโรงเรียนแล้ว พบการติดเชื้อขึ้นในโรงเรียน กทม. มีแผนเผชิญเหตุรองรับไว้แล้ว คือ ถ้าพบผู้ป่วย 1 รายขึ้นไป ให้ ปิดห้องเรียน 3 วัน และถ้าพบผู้ป่วยมากกว่า 1 ห้องเรียนให้ ปิดชั้นเรียน 3 วัน และแผนรองรับหากพบผู้ติดเชื้อ ในชุมชนที่พักอาศัยของนักเรียนหรือครู ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อไว้เช่นกัน
กทม.จะเปิดโรงเรียนตามมาตรการอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจในความปลอดภัย และขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกหลานของเรากลับมาเรียนที่โรงเรียนอย่างปลอดภัยครับ
ด้าน นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กทม. กล่าวถึงการเข้มงวดมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษาของกรุงเทพมหานคร หลังเปิดเรียนรูปแบบปกติ (On Site) ว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษาได้บูรณาการร่วมกับคณะกรรมการตรวจประเมินความพร้อมการเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 ระดับสำนักงานเขต ในการกำกับดูแลให้โรงเรียนในสังกัด กทม.ดำเนินการตามมาตรการ Sandbox : Safety Zone in School ตั้งแต่ก่อนเปิดภาคเรียน และระหว่างเปิดภาคเรียน เพื่อรองรับการจัดการเรียนการสอนแบบ On Site ในวันที่ 15 พ.ย.64
โดยได้จัดประชุมมอบนโยบายให้โรงเรียนในสังกัด กทม. รวมถึงประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจและขอความร่วมมือให้นักเรียน ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษากรุงเทพมหานคร ตลอดจนผู้ปฏิบัติงานในโรงเรียนให้ปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC) ประกอบด้วย
1) Distancing เว้นระยะห่าง
2) Mask wearing สวมหน้ากาก
3) Hand washing ล้างมือ
4) Testing คัดกรองวัดไข้
5) Reducing ลดการแออัด
และ 6) Cleaning ทำความสะอาด
รวมทั้ง 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) ประกอบด้วย
1) Self-care ดูแลตนเอง
2) Spoon ใช้ช้อนกลางส่วนตัว
3) Eating รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
4) Track ลงทะเบียนเข้าออกโรงเรียน
5) Check สำรวจตรวจสอบ
และ 6) Quarantine กักกันตัวเอง
และแนวทาง 7 มาตรการเข้ม สำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ) ของกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย
1) ประเมินความพร้อมเปิดเรียนผ่าน Thai Stop COVID Plus (TSC)+ และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID
2) จัดกิจกรรมรูปแบบ Small Bubble
3) จัดระบบให้บริการอาหารตามหลักสุขาภิบาลอาหารและหลักโภชนาการ
4) ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ การระบายอากาศภายในอาคาร การทำความสะอาด คุณภาพน้ำอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะ
5) จัด School Isolation แผนเผชิญเหตุ และมีการซักซ้อม
6) ควบคุมดูแลการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน (Seal Route) กรณีรถรับ-ส่งนักเรียน รถส่วนบุคคล และรถสาธารณะ
และ 7) จัดให้มี School Pass สำหรับนักเรียน ครู และบุคลากรในสถานศึกษา ประกอบด้วย ผลการประเมินThai Save Thai (TST) ผลตรวจ ATK ภายใน 7 วัน ประวัติการรับวัคซีน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเมื่อเข้า-ออกโรงเรียน เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและสร้างความมั่นใจให้ผู้ปกครองตลอดภาคการศึกษา