รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
ถ้าเป็นผู้กำกับหนังคงจะรวยและภาคภูมิใจ แต่ผู้กำกับ(การควบคุมโควิด)จะเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า เพราะยอดโควิดทะลุสองล้านมาได้หลายวันแล้ว ที่ยังพอปลอบใจได้บ้างคือสัดส่วนผู้ป่วยหนักลดลงต่อเนื่อง แต่ยอดผู้เสียชีวิตยังทรงตัว(คงต้องรอลดตามในสัปดาห์หน้า) และยอดฉีดวัคซีนสองเข็มทะลุเป้า 50% ไปแล้ว ตอนนี้คงคล้ายหลายประเทศที่ฉีดวัคซีนได้มากล่วงหน้าไปก่อน คือยอดฉีดรายวันเริ่มแผ่ว คงต้องงัดไม้เด็ดมาใช้ทั้งมาตรการจูงใจ(แจกรางวัล)หรือบังคับใจ(ไม่ให้เข้าบางพื้นที่)
ส่วนที่มีการเปิดเรียนเด็กโตไปบ้างแล้ว แม้จะเริ่มมีการป่วยบ้าง แต่มาตรการรองรับเช่นปิดทั้งห้อง ปิดทั้งชั้น ถูกกำหนดไว้แล้ว หวังว่าคงไม่ต้องถึงขั้นปิดกันทั้งโรงเรียนกันแพร่หลาย ช่วงนี้อากาศไม่ร้อน ไม่แนะนำให้เปิดแอร์ในห้องเรียนเพราะระบบระบายอากาศในโรงเรียนบ้านเราส่วนใหญ่ไม่ดี แต่ต้องระวังว่า PM2.5 ปีนี้เริ่มจะสูงแล้ว การเปิดหน้าต่างในบางช่วงเวลาอาจไม่ปลอดภัย ต้องคอยติดตามรายงานคุณภาพอากาศในพื้นที่ของตัวเองโดยใกล้ชิด
พรุ่งนี้เป็นวันโรคถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) ปีนี้จัดขึ้นภายใต้คำขวัญ
“Healthy Lungs: Never More Important”
“สุขภาวะปอด ยากนักให้ใส่ใจเยี่ยงนี้”
ขอเชิญชวนทุกท่านที่รักจะรักษาปอดของตัวเองและปอดของคนที่คุณรัก เร่งรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันขจัดภัยสำคัญที่จะมาคุกคามต่อลมหายใจของเรา ทั้งโควิดเอย ทั้งบุหรี่เอย และแถมด้วยพีเอ็มสองจุดห้าที่กำลังจะมาเยือนอยู่ในเร็ววัน ทั้งนี้เพราะลมหายใจของมนุษย์เราไม่เลือกว่าจะยากดีมีจน ล้วนได้รับผลกระทบเฉกเช่นกัน
"We breathe the same air, We share the same world”
“มนุษย์โลกนั้นไซร้ ลมหายใจล้วนแบ่งปัน”
โรคถุงลมโป่งพองหรือในทางการแพทย์เรียกว่า โรคปอดอุดกั้นเรื้อรังหรือ COPD เป็นโรคที่เกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังของหลอดลมและถุงลมปอด จากฝุ่น ควัน หรือก๊าซที่เป็นพิษ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการสูบบุหรี่ทั้งที่เป็นบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนน้อยเกิดจากมลพิษในอากาศ ทั้งในที่อยู่อาศัย ในที่สาธารณะ และในที่ทำงาน
ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยเวลาออกแรงที่เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมักจะมีอาการไอหรือมีเสมหะตอนเช้าเรื้อรังร่วมด้วย อาการจะลุกลามมากขึ้นๆ และในบางช่วงจะมีการกำเริบของโรครุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และบางคนถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ การกำเริบส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อในระบบการหายใจแทรกซ้อน ทั้งที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือจากเชื้อแบคทีเรียอื่น ในระยะยาวผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากโรคที่กำเริบ ปอดอักเสบ มะเร็งปอด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจวาย หรือ สมองขาดเลือด ปัจจุบันโรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคเรื้อรังอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเกิดภาวะทุพพลภาพและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
โรคโควิด-19 เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสซาร์โควี-2 ที่เป็นเชื้อโรคอุบัติใหม่ซึ่งมีความชื่นชอบในการทำอันตรายต่อปอดของมนุษย์เราอย่างมาก พบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคถุงลมโป่งพองอยู่เดิมหรือกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดโรค ถ้าเกิดโรคโควิด-19 ขึ้น จะมีโอกาสสูงที่โรคจะลุกลามไปจนคุกคามต่อชีวิตได้ง่าย ทำให้เกิดความสูญเสียรุนแรง ทั้งต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคมโดยรวม https://www.tandfonline.com/.../17476348.2021.1866547...
ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองอยู่แล้ว นอกจากจะต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 โดยเคร่งครัด ยังต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันให้ครบตามคำแนะนำ รวมถึงวัคซีนเข็มกระตุ้น อีกทั้งยังต้องสร้างเสริมความแข็งแรงของปอด ด้วยการกินอาหารที่เพียงพอและเหมาะสม ออกกำลังกายตามสมควร พักผ่อนให้เต็มที่ และ รักษาสุขภาพจิตให้ดี นอกจากนี้ยังต้องใช้ยารักษาโรคให้สม่ำเสมอตามที่แพทย์กำหนด สำหรับคนที่เป็นโรคแล้วหรือคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรค จะต้องงดการสูบบุหรี่ทุกชนิด ร่วมกับการหลีกเลี่ยงและป้องกันตนเองจากมลพิษในอากาศ
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6,524 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,008,361 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 56 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,191 ราย กำลังรักษา 91,382 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,898,217 ราย