นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีภารกิจที่สำคัญในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนในเรื่องของการใช้สินค้า หรือผผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยในเทศกาลลอยกระทง การปล่อยโคมลอย ควรยึดถือปฏิบัติตามประกาศมาตรการป้องกันและการรักษาความปลอดภัยของส่วนราชการในพื้นที่อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพของผู้ผลิตชุมชนมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน ให้สามารถผลิตสินค้าเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ผู้ผลิตชุมชนสามารถปฏิบัติตามได้ง่ายไม่ซับซ้อน ช่วยให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพ ปลอดภัย และได้รับความน่าเชื่อถือจากผู้บริโภค
"การปล่อยโคมลอยจะควบคุมการปล่อยโคมลอยในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ใกล้สนามบิน เพื่อไม่ให้โคมลอยเข้าไปติดในเครื่องบิน หรือลอยเข้าไปตกตามชุมชน"
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการ สมอ. กล่าวว่า ได้กำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และประกาศใช้แล้วจำนวน 1,355 มาตรฐาน รวมทั้ง ให้การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนแก่ผู้ผลิตชุมชนแล้วจำนวน 18,270 ราย เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค สามารถต่อยอดและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ นำไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
สำหรับโคมลอยนั้น เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีการผลิตโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน และนิยมปล่อยกันในช่วงเทศกาลลอยกระทง เพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมทางภาคเหนือของไทย จึงขอเตือนประชาชนที่มีความประสงค์จะปล่อยโคมลอยในช่วงเทศกาลลอยกระทง ขอให้เลือกซื้อโคมลอยที่ได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เลขที่ 808/2552 เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายที่จะเกิดขึ้น
กรณีโคมลอยตกลงมาแล้วติดค้างสายไฟฟ้าแรงสูงทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรหรือไฟฟ้าดับได้ หรือการใช้เชื้อเพลิงในปริมาณมากเกินไป หากไฟลุกไหม้ที่ตัวโคมแล้วตกลงสู่หลังคาบ้าน พื้นที่ป่าไม้ เป็นเหตุให้เกิดเพลิงไหม้อาคารบ้านเรือน ไฟป่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและเกิดความสูญเสียทางทรัพยากรด้วย
อย่างไรก็ดี โคมลอยตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน มาตรฐานเลขที่ มผช. 808/2552 ลักษณะโดยทั่วไป คือ ตัวโคมต้องใช้วัสดุและเชื้อเพลิงจากธรรมชาติ มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 90 เซนติเมตร ความสูงไม่เกิน 140 เซนติเมตร ใช้กระดาษว่าวชนิดบาง ปริมาณเชื้อเพลิง ไม่เกิน 55 กรัม ใช้เวลาในการเผาไหม้ ไม่เกิน 8 นาที ซึ่งเหมาะสมกับระยะเวลาที่โคมลอยอยู่ในอากาศ
ส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง ต้องยึดติดกับเชือกทนไฟหรือลวดอ่อนเบอร์ 24 จำนวน 2 เส้น แต่ละเส้นความยาวไม่เกิน 30 เซนติเมตร และต้องพิมพ์คำเตือนในฉลากด้วยข้อความว่าห้ามพ่วงหรือผูกติดพลุ ดอกไม้ไฟ หรือสิ่งอื่นใดไปกับโคมขณะปล่อย ,ห้ามใช้เชื้อเพลิงที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับตัวโคม เพราะอาจเกิดอันตรายได้
"ปัจจุบันมีผู้ผลิตโคมลอยที่ได้รับใบรับรองให้แสดงเครื่องหมาย มผช. แล้ว ได้แก่ นางอัมพร จันทร์ถา นายจำลอง จันทร์ถา และนายยุทธภูมิ จันทร์ถา ซึ่งทั้ง 3 ราย เป็นผู้ผลิตโคมลอยในจังหวัดเชียงใหม่"