จับตา“ประภาศ”กล้าลุยเซ็นสัญญาท่อส่งน้ำกับเอกชนรายใหม่ฝ่ามติครม.หรือไม่

18 พ.ย. 2564 | 12:18 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 19:26 น.

จับตา “ประภาศ คงเอียด”หลังศาลปกครองยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว บริษัท อิสท์ วอเตอร์ จะเดินหน้าเซ็นสัญญาเอกชนรายใหม่ฝ่ามติครม.หรือไม่ ในโครงการคัดเลือกเอกชนจัดให้เช่า-บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก

โครงการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ของกรมธนารักษ์ ที่ได้ผู้ชนะเป็นเอกชนรายใหม่ หลังจากที่ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก หรือ EAST WATER (อิสท์ วอเตอร์) ผู้ได้รับสัมปทานรายเดิม จะสิ้นสุดระยะเวลาสัญญาวันที่ 31 ธ.ค. 67 ไม่ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ของกรมธนารักษ์ 

 

อิสท์ วอเตอร์ ยื่นฟ้องกรมธนารักษ์ ต่อศาลปกครอง ว่ากระบวนการคัดเลือกทำผิดหลักเกณฑ์ และขอศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยให้ยุติกระบวนการคัดเลือกชั่วคราว

ก่อนหน้านี้ นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กรมธนารักษ์ ยังไม่มีการลงนามสัญญากับบริษัทเอกชนรายใหม่ เพราะต้องรอคำสั่งจากศาลปกครอง ว่าให้ดำเนินการอย่างไร หลังจากที่บริษัทรายเดิมได้ไปยื่นศาลปกครอง ขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีการคัดเลือกเอกชนในโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ หากศาลปกครอง มีคำสั่งออกมาอย่างไร กรมธนารักษ์ ก็พร้อมปฏิบัติตาม จึงยังไม่มีการลงนามสัญญากับเอกชนรายใหม่ 

 

ล่าสุด ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำขอคุ้มครองชั่วคราวของ อิสท์ วอเตอร์ 

 

นายประภาศ ให้สัมภาษณ์ วันนี้ (18 พ.ย.64) ว่า คำสั่งศาลปกครองที่ออกมา ทำให้กรมธนารักษ์ สามารถดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ ส่วนจะมีการลงนามสัญญาเอกชนรายใหม่ที่ได้รับการคัดเลือกเมื่อใดนั้น หลังจากนี้กรมธนารักษ์ คงต้องมาพิจารณารายละเอียดขั้นตอนอีกครั้งว่าจะดำเนินการได้แค่ไหนอย่างไร ต้องคำนึงถึงกระบวนการศาลด้วย เพราะยังมีคดีหลักที่อิส วอร์เตอร์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองในส่วนของกระบวนการคัดเลือกทำผิดหลักเกณฑ์ ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการอีกครั้ง

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่คณะกรรมการที่ราชพัสดุว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การคัดเลือกเอกชนโครงการคัดเลือกเอกชนในการจัดให้เช่า/บริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก กรมธนารักษ์ มีหนังสือเชิญบริษัทที่มีคุณสมบัติเพียง 3 ราย ให้มายื่นข้อเสนอเพื่อเข้าร่วมการคัดเลือก จากนั้นในวันที่ 30 ก.ย. 64 คณะกรรมการคัดเลือก มีมติให้บริษัทเอกชนรายใหม่ เป็นผู้ได้รับคัดเลือกบริหารและการดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มีอายุสัญญา 30 ปี โดยกรมธนารักษ์จะได้รับผลตอบแทนตลอดระยะเวลา 30 ปี เป็นเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท
 

บริษัท อิสท์ วอเตอร์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และยื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราวเนื่องจากมองว่า คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กรมธนารักษ์ต้องเจรจากับบริษัทรายเดิมก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดไม่น้อยกว่า 3 ปี 

 

นอกจากนี้ การดำเนินการคัดเลือกครั้งนี้อาจจะไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาลที่ต้องการให้การดำเนินการมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และให้บริการน้ำในภูมิภาค ซึ่งถือเป็นหลักการที่เป็นสาระสำคัญ ดังนั้น แม้ว่าจะใกล้สิ้นสุดอายุของสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.67 แต่เป็นพันธะของกรมธนารักษ์ ที่จะต้องพิจารณาจัดทำสัญญาฉบับใหม่เพื่อให้บริษัทรายเดิมเป็นผู้ใช้และบริหารโครงการท่อส่งน้ำต่อไปตามมติครม. เพื่อไม่ให้กระทบต่อการบริหารจัดการระบบท่อส่งน้ำในภาคตะวันออก ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้