นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องข้อพิพาทที่ดินบริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง รฟท.เตรียมนำคดีการออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของรฟท.ในพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 เบื้องต้นอยู่ระหว่างจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ หากกรมที่ดินยืนยันไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวจะดำเนินการจัดทำคำฟ้องคดีปกครองยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อพิจารณาต่อไป
ขณะเดียวกันที่ผ่านมากรมที่ดินมีหนังสือ ที่ มท 0516.2/3530 ลงวันที่ 27 กันยายน 2564 ถึงการรถไฟฯ ว่าไม่สามารถดำเนินการเพิกถอนหรือแก้ไขตามมาตรา 61 วรรคแปด แห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้ เนื่องจากการเพิกถอนหรือแก้ไขตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว จะต้องเป็นกรณีที่ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาถึงที่สุดว่า เป็นการออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ในกรณีนี้คำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองคดีไม่ได้พิพากษาให้เพิกถอนหรือแก้ไขแต่อย่างใด
หากรฟท. ยืนยันว่า แผนที่ที่ใช้ในการพิจารณาของศาลเป็นแผนที่ที่มีความถูกต้อง และรฟท.สามารถถ่ายทอดแนวเขตลงไปในระวางรูปถ่ายทางอากาศที่กรมที่ดินจัดส่งให้ และรับรองความถูกต้อง ซึ่งกรมที่ดินจะใช้ระวางแผนที่ที่รฟท.ได้ขีดเขตและรับรองเป็นหลักฐานอย่างหนึ่ง นอกจากหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) ในการประกอบการพิจารณา โดยกรมที่ดินจัดส่งระวางแผนที่ดังกล่าวให้จังหวัดบุรีรัมย์ตรวจสอบว่า ที่ดินแปลงใดต้องดำเนินการเพิกถอนทั้งแปลงหรือบางส่วนต่อไป เว้นแต่กรณีที่รฟท.ไม่สามารถกำหนดแนวเขตลงในระวางแผนที่ได้ รฟท.สามารถนำหลักฐาน สค.1 เลขที่ 1180 หมู่ที่ 1 ตำบลในเมือง ไปยื่นขอออกโฉนดที่ดินในส่วนที่เหลือ 4,605 ไร่ 1 งาน 71.2 ตารางวา ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ได้ เพื่อให้ครอบคลุมตามหลักฐาน สค.1 เลขที่ 1180 ดังกล่าว และเมื่อได้แนวเขตที่ดินที่ชัดเจนกรมที่ดินจะได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
"รฟท.เห็นว่ากรมที่ดิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินงานออกหนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้ราษฎรและให้บริการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เมื่อได้รับทราบความตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842–876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 จนเป็นที่ยุติแล้วว่าที่ดินในพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดงเป็นที่ดินของรฟท.ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานที่ดินย่อมต้องทราบถึงการมีอยู่ของที่ดินรถไฟหลวงดังกล่าว หากได้ใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบกฎหมายรวมถึงขอบเขตของที่ดินในพื้นที่ทางแยกบริเวณเขากระโดงดังกล่าวก่อนที่จะทำการออกโฉนดที่ดินให้แก่ประชาชน
นายเอกรัช กล่าวต่อว่า กรมที่ดินจึงมีหน้าที่ที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อกรมที่ดินไม่ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 จึงอาจเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (2)
"รฟท.ได้ดำเนินการในเรื่องที่ดินบริเวณเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ อย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักความถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเป็นธรรมและปฏิบัติอย่างเท่าเทียมต่อพี่น้องประชาชน รักษาผลประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศชาติ"
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 รฟท. ได้จัดทำหนังสือที่ รฟ 1/1911/2564 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ถึงอธิบดีกรมที่ดินเพื่อให้ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ในการเพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับซ้อนที่ดินของรฟท. ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 ภายใน 90 วัน ภายหลังจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842–876/2560 ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8027/2561 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ได้วินิจฉัยสอดคล้องกันว่าสำเนาแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลา ย่อมถือได้ว่าเป็นที่ดินที่จัดหามาเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อรฟท. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการรถไฟฯ พ.ศ. 2494 และมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้โอนทรัพย์สินและหนี้สินของกรมรถไฟแผ่นดินให้แก่รฟท. ทำให้รฟท.จึงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท