นศ.ธรรมศาสตร์ คว้าโล่พระราชทาน แชมป์ประกวด ‘แผนการตลาด’

20 พ.ย. 2564 | 06:46 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ย. 2564 | 14:08 น.

นักศึกษาธรรมศาสตร์! คว้าโล่พระราชทาน ครองแชมป์การประกวด ‘แผนการตลาด’ แม้ว่าจะเรียนคณะวารสารฯ ก็ชนะเลิศได้

แม้จะไม่ได้เรียนการตลาดโดยตรง แต่ “ขอแตะหน่อย” ทีมนักศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งมี อาจารย์พรรณวดี ประยงค์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ก็สามารถคว้า “รางวัลชนะเลิศ” จากการประกวดแผนการตลาด J-MAT Award ครั้งที่ 30 ซึ่งเป็นเวทีการประกวดแผนการตลาดของนักศึกษาที่ใหญ่ที่สุดเวทีหนึ่งในประเทศ และยังได้รางวัล Creative Award  และรางวัลอาจารย์ที่ปรึกษายอดเยี่ยมจากเวทีการประกวดมาครองอีกด้วย


การประกวดแผนการตลาด J-MAT Award ครั้งที่ 30 เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นโดยชมรมยุวสมาชิกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย (J-MAT) ภายใต้การดูแลของสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย โดยมี บริษัท บิ๊กสตาร์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรองเท้าแบรนด์แกมโบล (GAMBOL) ภายใต้แนวคิด “เดิน..เฟี้ยว ไอเดีย..ฟ้าว” เป็นผู้สนับสนุน 

ในปีนี้ มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 214 ทีม โดยแชมป์ตกเป็นของเด็กธรรมศาสตร์ นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์ฯ กลุ่มวิชาโฆษณา ที่สามารถคว้าเงินรางวัล 130,000 บาท พร้อมโล่พระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 

สำหรับ “ทีมขอแตะหน่อย” เป็นการรวมทีมของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวน 10 คน ได้แก่ น.ส.กันนพิชญ์ ประสีระเตนัง, น.ส.ภาพวาด ตระกูลคู่บุญ, นายพีรพัฒน์ บุญนิคม, นายภูริทัต โกญจนาวรรณ, นายธนวิชญ์ ยาวะโนภาส, นายพบตะวัน พันธ์พรม, น.ส.วนันท์นภัส ชุนเฮงพันธุ์, น.ส.เมธาวดี ศรีเปารยะ, น.ส.อภิสรา บุญอยู่ และ นายศุภฤกษ์ อดิศัยธรรม

น.ส.กันนพิชญ์ ประสีระเตนัง หนึ่งในสมาชิกทีมขอแตะหน่อย เล่าว่า แม้จะไม่ได้เรียนสาขาการตลาดมาโดยตรง แต่การเรียนในคณะวารสารศาสตร์ฯ ในหลาย ๆ วิชา ก็สามารถนำความรู้มาประยุกต์ใช้ได้ ทั้งในเรื่องของการตลาด การโฆษณา สื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 

 

น.ส.กันนพิชญ์ เล่าถึงคอนเซ็ปต์ว่า แนวคิดของโครงการคือ “เดิน..เฟี้ยว ไอเดีย..ฟ้าว” ซึ่งตรงกับผู้ที่อยู่ใน Gen-X และ Gen-Y และตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ทีมกำหนดไว้พอดี ดังนั้นเพื่อที่จะทำให้ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้นอีก ทีมจึงได้เสนอคอนเซ็ปต์ “GAMBOLlisation” ซึ่งมาจากแกมโบลที่เป็นชื่อแบรนด์ บวกกับ Globalisation ที่แปลว่าโลกาภิวัตน์ ทำให้การสื่อสารของแบรนด์ใกล้ผู้คนมากขึ้นและสามารถสื่อสารไปได้ทั่วโลก 


ในส่วนของแผนการตลาดที่ “ทีมขอแตะหน่อย” นำเสนอแผนนั้น  นอกเหนือจากเรื่องการตลาด ยังมีเรื่องของเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ งานดีไซน์ รวมถึงการลงทุนมาอยู่ในแผนด้วย พยายามเข้าถึงความสนใจของคนรุ่นใหม่ตามโจทย์ที่ได้รับ 


น.ส.กันนพิชญ์ เล่าต่อว่า จุดเด่นของทีมเรานอกเหนือจากเรื่องการนำเสนอที่โดดเด่นจากการเป็นนักศึกษาวารสารที่ต้องฝึกเรื่องการพรีเซนต์งานเสมอๆ คงเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการรวมเอาเทคโนโลยี และสื่อใหม่ มาประยุกต์ใช้ในงานให้น่าสนใจมากขึ้น ทั้งในเรื่องของ NFT, Cryptocurrency, และเรื่อง Data ที่คิดว่ามีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยอาจารย์เน้นย้ำความสำคัญของ Data ในแพลตฟอร์มที่เราเลือกนำเสนอและตั้งคำถามเรื่องความคุ้มค่าและเป็นไปได้จริง

 

เมื่อเทคโนโลยีมารวมกับความคิดสร้างสรรค์ในการเล่าเรื่องแบบ “Storytelling ” จึงอาจทำให้ชนะใจกรรมการได้ ภายใต้คอนเซป “Gambolization” ที่สื่อถึงความเป็นแบรนด์ Gambol ที่ทันสมัย เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ผ่านช่องทางการสื่อสารที่ตอบโจทย์ ในขณะเดียวกันทางทีมก็ไม่ลืมที่จะสร้าง Brand Love กับคนทุกกลุ่มทั้งลูกค้าเก่าและใหม่ของแบรนด์แกมโบล


สำหรับการเรียนในมหาวิทยาลัยมีส่วนมากที่ทำให้ชนะการประกวด เนื่องจากช่วงที่เรียนปี 3 และปี 4 จะได้ลงมือทำงานจริง บางรายวิชามีลูกค้าเข้ามาบรีฟโจทย์จริง ทำให้ได้รับคำแนะนำทั้งจากอาจารย์และวิทยากร นอกจากนี้การได้มีโอกาสออกไปฝึกงานก็ทำให้พวกเราสามารถดึงศักยภาพออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ 


เธอ บอกอีกว่า การเข้าประกวดเหมือนกับเป็นการพัฒนาตัวเอง เราจะได้รู้ด้วยว่าจุดแข็ง จุดอ่อนของเราคืออะไร และได้เรียนรู้จากทีมอื่น ๆ การประกวดเองก็ถือเป็นใบเบิกทางในการทำงานในอนาคต แม้ว่าตนและเพื่อนจะเรียนหนักแต่เชื่อว่าการประกวดจะเป็นประสบการณ์ที่ดีจึงแบ่งเวลามารวมตัวกันทำงาน ส่วนตัวเองเริ่มประกวดตั้งแต่ปี 2 ประกวดมาแล้วประมาณ 5-6 ครั้งในหลาย ๆ เวที นอกจากความสนใจส่วนตัว ทางมหาวิทยาลัยก็มีส่วนสนับสนุนในการเข้าประกวดของนักศึกษา โดยมีการประชาสัมพันธ์และผลักดันตลอด 


“การประกวดทำให้มองเห็นภาพชัดเจนว่าเราจะไปในทิศทางไหน สิ่งที่เรียนมาโฆษณากับการตลาดมองว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นสับเซต (subset) ของกันและกัน หลังเรียนจบคงไปทำงานด้านนี้ เพื่อนทุกคนในทีมก็สนใจอยากทำอะไรที่เป็นเรื่องของการตลาดและมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สำหรับตัวเองชอบวางแผนงานโดยรวม มองภาพรวมของงาน กำหนดทิศทางของงาน ดังนั้น ในอนาคต หลังเรียนจบอาจจะไปทำงานสายแพลนเนอร์ ในเอเจนซี่โฆษณาหรือมาร์เก็ตติ้งเอเจนซี่ ซึ่งก็ได้ปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาอยู่”  น.ส.กันนพิชญ์ ตั้งใจเช่นนั้น


อนึ่ง การประกวดแผนการตลาด J-MAT Award ครั้งที่ 30 นอกจากทีม “ขอแตะหน่อย” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และ รางวัล Creative Award ยังมีทีม “ก้าวแรกไม่เป็นไร ก้าวต่อไปทาเคชิ” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ได้รับรางวัลชมเชย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังได้รับรางวัล The Best Support เนื่องจากเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาส่งเข้าร่วมโครงการมากที่สุดด้วย รวมแล้ว 4 รางวัล