กรมชลประทานเตรียมความพร้อม หลังกรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศในช่วงวันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน 2564 ภาคใต้จะมีฝนตกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากได้ ทั้งนี้บูรณาการร่วมกับศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และข้อมูลฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ รวมทั้งพื้นที่เคยเกิดน้ำหลากและน้ำล้นตลิ่งในช่วงที่ผ่านมา
พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม ในช่วงวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2564 บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง และสตูล พร้อมกับเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคใต้ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต และตรัง
นายประพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือได้สั่งการให้ สำนักงานชลประทานที่ 14 - 17 คอยติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
ทั้งนี้ หากในพื้นที่เกิดสถานการณ์น้ำหลาก ขอให้แจ้งข้อมูลกลับในกลุ่มไลน์เครือข่ายศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อจะได้ดำเนินการเข้าไปให้ความช่วยเหลือต่อไป และปรับแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 หรือเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาบริหารจัดการเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ ให้สอดคล้องกับการขึ้น - ลงของระดับน้ำทะเล รวมทั้งใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นแก้มลิงหน่วงน้ำและรองรับน้ำหลาก
"ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องทางภาคใต้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่กรมชลประทานได้เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก อาทิ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที โดยการขุดเปิดทางระบายน้ำให้สามารถไหลได้ดีขึ้น รวมทั้งติดตั้งเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆเพื่อช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วม"
ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัยในภาคใต้ 6 จังหวัด กรมชลประทานได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำรวม 71 เครื่อง เครื่อง Hydroflow 8 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 52 เครื่อง พร้อมบูรณาการร่วมกับจังหวัดในการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.)ได้แจ้งเตือน 9 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง ตรัง และสตูล เฝ้าระวังน้ำหลาก น้ำล้นตลิ่ง ดินถล่ม ในช่วงวันที่ 23 - 25 พฤศจิกายน 2564 พร้อมกับเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำในภาคใต้ บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระนอง ภูเก็ต และตรัง
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ที่สายด่วนนิรภัย โทร.1784