สธ. เล็งปรับกลยุทธ์จูงใจฉีดวัคซีนโควิดให้ได้ตามเป้า 100 ล้านโดส

22 พ.ย. 2564 | 10:30 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2564 | 16:24 น.

กระทรวงสาธารณสุข กำชับทุกพื้นที่เร่งสำรวจความคิดเห็นประชาชนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์จูงใจเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส เเละเฝ้าระวังคลัสเตอร์ต่างๆ และกลุ่มเสี่ยงต่อเนื่องถึงสิ้นปี

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์โควิด 19  ผู้ติดเชื้อยืนยันคงที่ ผู้ป่วยอาการหนักลดลง ผู้เสียชีวิตยังอยู่ในหลักสิบราย จังหวัดที่มีแนวโน้มต้องจับตามองเป็นพิเศษมี 13 จังหวัด แบ่งเป็น 1.ติดเชื้อเฉลี่ยเกิน 100 รายต่อวัน และผลตรวจ ATK มากกว่า 5% มี 5 จังหวัด

ได้แก่ สงขลา ตรัง สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช  2.ติดเชื้อรายวันเฉลี่ยเกิน 100 รายต่อวัน และผลตรวจ ATK พบน้อยกว่า 5%

มี 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น สระแก้ว และนครราชสีมา และ 3.ติดเชื้อเฉลี่ย 50-100 รายต่อวัน มี 5 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี อุบลราชธานี อุดรธานี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

ปัจจัยการติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากในชุมชน ครอบครัว กิจกรรมเสี่ยง ได้แก่ งานศพ งานบุญ งานเลี้ยงสังสรรค์ และสถานที่เสี่ยง ได้แก่ ตลาด แคมป์คนงาน โรงงาน เรือนจำ โรงเรียน 

 

หลายจังหวัดพบเป็นคลัสเตอร์ ในสถานที่มีแรงงานต่างด้าว ดังนั้น จึงต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง และจับตาดูแนวโน้มผู้ติดเชื้อหลังงานลอยกระทง จนถึงเดือนธันวาคม เนื่องจากเป็นช่วงไฮซีซั่นมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะจากยุโรปซึ่งพบการติดเชื้อสูงขึ้น

สำหรับการเตรียมการเปิดประเทศให้ทุกจังหวัดจัดทำแผนปฏิบัติการ เน้นกำกับติดตามมาตรการ VUCA หลัก คือ V: Vaccine นำประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด เฉพาะในกลุ่ม 608 โดยจัดบริการทั้งในและนอกสถานพยาบาล  ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ จัดลงทะเบียน แรงงานต่างด้าว ในชุมชน รวมถึงให้ อสม.ช่วยค้นหาเชิงรุก  U: Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา C : Covid Free Setting สถานที่บริการมีความพร้อม ผู้ให้บริการฉีดวัคซีนครบ และ A: ATK  เฝ้าระวังและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงเฝ้าระวังชุมชนหนาแน่น และมีแรงงานต่างด้าว

นอกจากนี้ให้ทุกพื้นที่ช่วยสำรวจรวบรวมประเด็น เหตุผลที่คนไม่ยอมฉีดวัคซีน เพื่อนำมาปรับกลยุทธ์ อบรมทีมเชิงรุกในการให้ข้อมูลจูงใจให้เข้ารับวัคซีนให้เป็นไปตามเป้าหมาย 100 ล้านโดส