23 พฤศจิกายน 2564 นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสี ของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอซึ่งเป็นการแก้ไขจากร่างฯที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
สาระสำคัญ เป็นการกำหนดลักษณะของแผ่นป้ายทะเบียนรถ สำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7คน ที่มีหมายเลขทะเบียน ซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม อาจมีตัวอักษรประจำหมวดมากกว่า 2 ตัวอักษร หรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ก็ได้ เพื่อให้การกำหนดตัวอักษรประจำหมวดมีความหลากหลายและเหมาะสมยิ่งขึ้นซึ่งแตกต่างไปจากร่างฯที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่ครม.เคยมีมติอนุมัติหลักการไว้
โดยขอแก้ไขจากเดิมที่ให้ตัวอักษรประจำหมวดพิเศษใช้ได้เฉพาะกับหมายเลขทะเบียน 1 หลัก เป็น "ให้ใช้กับหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม" (301 เลขหมาย) ที่มีทั้งหมายเลขทะเบียน 1 หลัก, 2 หลัก, 3 หลักและ 4 หลักได้ด้วย
สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะแผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ในกฎกระทรวงกำหนดขนาด ลักษณะ และสีของแผ่นป้ายทะเบียนรถ และการแสดงแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี 2554 โดยกำหนดให้แผ่นป้ายทะเบียนรถแบ่งออกเป็น 2 บรรทัด ดังนี้
บรรทัดที่ 1 ประกอบด้วย ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 1 ตัวอักษรประจำหมวดตัวที่ 2 และหมายเลขทะเบียนไม่เกิน 4 หลัก
บรรทัดที่ 2 เป็นตัวอักษรแสดงชื่อกรุงเทพมหานคร หรือ จังหวัดที่จดทะเบียน เว้นแต่ กรณีจดทะเบียนที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ให้ใช้คำว่า เบตง ทั้งนี้ ตัวอักษรให้ใช้ตัวอักษรไทย และหมายเลขทะเบียนให้ใช้ตัวเลขอารบิค และทั้งตัวเลขและตัวอักษรให้อัดเป็นรอยดุน
ทั้งนี้ แผ่นป้ายทะเบียนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ให้มีลักษณะเช่นเดียวกับข้างต้น เว้นแต่กรณีบรรทัดที่ 1 มีหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นที่ต้องการหรือเป็นที่นิยม บรรทัดที่ 1 อาจประกอบด้วยตัวอักษรประจำหมวดมากกว่า 2 ตัวอักษร หรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ได้
กรณีที่แผ่นป้ายทะเบียนรถมีอักษรประจำหมวดมากกว่า 2 ตัวอักษร หรือมีตัวอักษรผสมสระหรือวรรณยุกต์ ให้ขอบแผ่นป้ายทะเบียนรถดังกล่าวไม่ต้องอัดเป็นรอยดุน และเครื่องหมาย ตัวเลข และตัวอักษรใช้เป็นลายพิมพ์ โดยการกำหนดตัวอักษรประจำหมวดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีประกาศกำหนด