จับตาพายุเข้าภาคใต้ฝั่งตะวันตก 20-21 ธ.ค.นี้ เช็คผลพยากรณ์อากาศที่นี่

15 ธ.ค. 2564 | 17:02 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2564 | 22:08 น.

เพจเฟซบุ๊กพยากรณ์อากาศประเทศไทย เผยโอกาสเกิดพายุในไทยวันที่ 20-21 ธ.ค.โดยเคลื่อนเข้าภาคใต้ หลังจากนั้นภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก อีสาน ส่วนพายุไต้ฝุ่น ราอี Rai ที่มาจากฟิลิปปินส์ คาดไม่กระทบไทย

เพจพยากรณ์อากาศประเทศไทย โดยบริษัท ซีพีเอส เ​ว​เธอร์​ จำกัด และ บริษัท​ ซีพี​เอส​ อะกริ จำกัด ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน" ได้รายงานว่า จับตาโอกาสที่จะมีพายุเคลื่อนเข้าภาคใต้ฝั่งตะวันตก ประมาณ 20-21 ธ.ค. แล้วตามด้วยภาคกลางตอนล่าง ตะวันตกตอนล่าง ตะวันออก และอีสาน ประมาณ 21-23 ธ.ค. 

 

ส่วนไต้ฝุ่น Rai ที่มาจากทางฟิลิปปินส์นั้น ทำท่าจะพุ่งเข้าเวียดนาม ประมาณ 19 ธ.ค. แต่เลี้ยวเบนออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นไปทางจีน จะไม่ส่งผลต่อไทย (ทั้งหมดนี้เป็นเพียงผลการพยากรณ์ล่วงหน้าตามหลักวิชาการ เพื่อประโยชน์ในการเตรียมความพร้อม ยังไม่สามารถยืนยันได้จนกว่าจะเกิดขึ้นจริง ต้องรอการยืนยันจากการสังเกตจริงเสียก่อน )

 

ทั้งนี้ เพจพยากรณ์อากาศประเทศไทย ได้แสดงผลการพยากรณ์ฝน 19-23 ธ.ค. พบว่า ช่วงนี้มี 2 ระบบที่ต้องจับตา คือ


1) ประมาณ 20-21 ธ.ค. จับตาระบบบริเวณหัวเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย มีโอกาสพัฒนาตัวขึ้นเป็นพายุหมุนเขตร้อน หากเกิดขึ้นจริง 

  • จะเคลื่อนที่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าภาคใต้ฝั่งตะวันตก เริ่มประมาณ 20-21 ธ.ค. 
  • จะเคลื่อนออกอ่าวไทยไปภาคกลางตอนล่าง ตะวันตกตอนล่าง ตะวันออก และอีสาน ประมาณ 21-23 ธ.ค. 

 

2) ไต้ฝุ่น Rai ที่จะมาจากทางฟิลิปปินส์นั้น  พบว่า

  • จะเคลื่อนเข้ากลางค่อนล่างของฟิลิปปินส์ ประมาณ 16 ธ.ค.
  • เมื่อพ้นฟิลิปปินส์จะมุ่งหน้ามาทางเวียดนาม ทำท่าจะพุ่งเข้าเวียดนาม ประมาณ 19 ธ.ค. แต่เลี้ยวเบนออกไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นไปทางจีน จะไม่ส่งผลต่อไทย

 

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้อัพเดท พายุไต้ฝุ่น “ราอี” บริเวณทิศตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์กำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนไปทางเหนือ คาดว่าจะเคลื่อนผ่านประเทศฟิลิปปินส์และลงทะเลจีนใต้ในวันที่ 18 ธ.ค. 64 โดยพายุนี้ยังไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย

 

นอกจากนั้นแล้วกรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา โดยระบุว่า หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่างใกล้ชายฝั่งประเทศมาเลเซีย มีแนวโน้มเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทยในคืนวันที่15 ธ.ค. 2564 ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง 

 

โดยขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ ทั้งนี้พื้นที่ที่คาดว่าได้รับผลกระทบมีดังนี้

 

วันที่ 15 ธันวาคม 2564

  • บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

วันที่ 16-17 ธันวาคม 2564

  • บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล

วันที่ 18 ธันวาคม 2564

  • บริเวณจังหวัดกระบี่ ตรัง และสตูล


สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังแรง โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร สำหรับทะเลอันดามันคลื่นสูง 1-2 เมตร

 

ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่งภาคใต้ฝั่งตะวันออกระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่งไว้ด้วย ส่วนชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง เรือเล็กบริเวณอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 16-18 ธ.ค. 2564

 
 

กรมอุตุนิยมวิทยา ยังได้พยากรณ์อากาศล่วงหน้าภาคใต้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 


ภาคใต้  (ฝั่งตะวันออก)
วันที่ 15 – 18 ธ.ค. 64 

  • มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาค  สุราษฎร์ธานี ขึ้นไป ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร นครศรีธรรมราช ลงมา ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร

วันที่ 19 - 21 ธ.ค. 64 

  • มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 19-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส

 

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)
วันที่ 16 – 18 ธ.ค. 64 

  • มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งทางตอนล่างของภาคลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

วันที่ 19 - 21 ธ.ค. 64 

  • มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตรอุณหภูมิต่ำสุด 20-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศาเซลเซียส