พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ผอ.ศจร.ตร.) เปิดเผยว่า เตรียมอำนวยความสะดวกการจราจรให้กับประชาชนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2565 โดยจะใช้กำลังกว่า 80,000 นาย
คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีปริมาณรถเข้า-ออก กทม. ในช่วงวันที่ 29 ธ.ค.64 – 4 ม.ค.65 กทม. เป็นจำนวนมากกว่า 7 ล้านคัน คาดว่าประชาชนจะเริ่มเดินทางตั้งแต่ 29 ธ.ค.64 และปริมาณรถที่จะออกมากที่สุด ในวันที่ 30 และ 31 ธ.ค.64 ปริมาณรถที่จะกลับเข้า กทม. มากที่สุดในวันที่ 3 ม.ค.65
โดยให้ทุกหน่วยเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การจัดทำแผนที่แสดงเส้นทางสำรอง เส้นทางเลี่ยง และ เส้นทางลัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้คืนพื้นผิวจราจรให้เสร็จสิ้นภายใน 25 ธ.ค.64 (เช่น ถนน.มิตรภาพ กม.31 ซึ่งมีการก่อสร้างทางขึ้นลง Motorway M6)
จัดกำลังตำรวจอำนวยการจราจรแต่ละเส้นทาง บริเวณทางร่วม ทางแยก และหน้าสถานีบริการน้ำมันหรือจุดแวะพักรถ โดยมีศูนย์ควบคุมสั่งที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง สายด่วน 1193 หรือ เพจ facebook ตำรวจทางหลวง และศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) สายด่วนหมายเลข 1197 (พื้นที่ กทม.) เพื่อให้บริการประชาชน ในการสอบถามเส้นทาง รับแจ้งอุบัติเหตุ
ห้องพักฟรีทั่วไทย ให้บริการจองห้องพักของหน่วยบริการตำรวจทางหลวง ผ่านระบบออนไลน์ที่ www.booking.hwpdth.com มีห้องพักผ่อนฟรี สำหรับประชาชนแวะพักเหนื่อย มีบริการเครื่องดื่มและขนม ห้องน้ำสะอาด ซึ่งทุกหน่วยบริการมีมาตรการป้องกันโรคโควิด 19 ที่ได้มาตรฐาน
ออกข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร เพื่ออำนวยความสะดวกการจราจร 2 ฉบับ
บังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน 10 ข้อหาหลัก ได้แก่ 1) ขับรถย้อนศร 2) ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 3) ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และ 4) ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว หากพฤติการณ์มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน จะดำเนินคดีเพิ่มในข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท โดยในการตรวจจับการกระทำผิด จะใช้วิธีการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามมาตรฐาน (Standard Operation Procedure) รวมถึงการใช้ชุดสายตรวจจราจรออกตรวจในพื้นที่เสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ จะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.64 เป็นต้นไป
กรณีเกิดอุบัติเหตุจะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย รวมถึงสอบสวนขยายผล ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนดื่มสุราแล้วขับรถ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ขายสุรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรและบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด (การห้ามจำหน่ายสุราในเวลาห้าม และ ห้ามดื่ม-ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ในสถานที่กฎหมายกำหนด และห้ามขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี)
ให้ทุกสถานีตำรวจ ทำฐานข้อมูลบัญชีกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ ได้แก่ บัญชีบุคคลเสี่ยง (ผู้ที่มีประวัติเมาสุรา หรือมีแนวโน้มกระทำผิดข้อหาอื่นๆ ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ) บัญชีร้านค้าเสี่ยง (ร้านที่มีประวัติการกระทำผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) บัญชีกิจกรรมเสี่ยง (ข้อมูลการจัดงานหรือกิจกรรมรื่นเริงเทศกาลปีใหม่ 2565 ที่ต้องเฝ้าระวัง) เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเข้าไปประชาสัมพันธ์ ป้องปรามหรือตักเตือนก่อนทำผิด