รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha)โดยมีข้อความว่า
จริงๆ ด้วย...มังสวิรัติลดความดันได้
หมอธีระวัฒน์ ระบุว่า เป็นที่ติดปากมาช้านาน สำหรับคนที่เริ่มจะมีความดันสูง โดยเฉพาะคนที่ยังไม่สูงวัยเกิน 60 ปี ซึ่งความดันควรจะอยู่ที่ไม่เกิน 130 ตัวบนและ 80 ตัวล่าง ทั้งนี้ถ้าเริ่มที่จะสูงบ้าง เช่นเกินไปนิดๆ 140 หรือกว่านิดหน่อย และตัวล่าง 85-90 หลักปฏิบัติประการสำคัญคือให้ปรับเปลี่ยนสไตล์ของการดำเนินชีวิต กินผัก ผลไม้ กากไย จนเข้มข้นถึงมังสวิรัติเต็มร้อยหรือเกือบร้อย คือให้มีปลาด้วย จนถึงลดน้ำหนัก ลดเค็ม หยุดบุหรี่ ลดสุราหรือเลิก ก่อนที่จะให้เริ่มกินยาจริงๆ
อย่างไรก็ตาม หลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์ในเรื่องของมังสวิรัติกับความเก่งในการทำให้ความดันลดค่อนข้างกำกวมทำให้หมอหลายคนผะอืดผะอม พูดได้ไม่เต็มปากจวบจนกระทั่งมีรายงานในวารสารสมาคมแพทย์สหรัฐ (JAMA Internal Medicine) ปี 2557 ชัดเจนว่าเข้าใกล้มังสวิรัติเพียงใดจะส่งผลในการลดความดันได้ ทั้งนี้โดยที่ผลนั้นชัดเจนรวดเร็วตั้งแต่เริ่มทานผักไม่นานนัก โดยร่วมกับการลดเค็มลงด้วย
พลังที่สำคัญของการกินผัก ผลไม้ กากใย ธัญพืช โปรตีนจากพืช หยุดละหรือลดเนื้อลงมากที่สุด ปลาได้ ไข่ได้บ้าง มาจากคุณสมบัติจากการที่อาหารเหล่านี้มีโปแตสเซียมในปริมาณสมดุล และไม่มีไขมันอิ่มตัว และส่งผลทำให้เลือดข้นน้อยลง ตัวเพรียว น้ำหนักลดหรือแม้ไม่ลด ฮวบฮาบ แต่ไขมันในเครื่องใน เช่น ในช่องท้อง (visceral fat) จะลดลงซึ่งเป็นตัวดัชนีชี้บอกความเสี่ยงของเส้นเลือดตัน
นอกจากนั้นด้วยกลไกของกากไยจะปรับเปลี่ยนจุลินทรีย์ในลำไส้ให้เป็นมิตรและไม่สร้างพิษย้อนกลับเข้าไปในร่างกายตามทฤษฎีของ “ลำไส้รั่วพิษแทรกเข้าร่างกาย” (Leaky Gut) และการกินผักผลไม้จะช่วยทำให้ท้องไม่ผูก
หลักฐานเชิงประจักษ์ในรายงานนี้วิเคราะห์จากรายงานการศึกษา 258 ชิ้นและเป็นรายงานโดยเป็นการศึกษาทางคลินิก 7 รายการ และการศึกษาแบบสังเกตวิเคราะห์อีก 32 รายการ ใน 7 รายการที่มีการควบคุมเคร่งครัด นั้นมี 311 ราย อายุเฉลี่ย 44.5 ปี เทียบกับคนที่หนักในการกินเนื้อสัตว์ และใน 32 รายการหลังมีจำนวน 21,604 ราย อายุเฉลี่ย 46.6 ปี
ความดันตัวบนลดลงตั้งแต่ 4.8-6.9 และตัวล่างลดลง 2.2-4.7 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ กลุ่มคนที่ศึกษามีทั้ง จีน ไต้หวัน เกาหลี บราซิล สเปน อินเดีย ญี่ปุ่น อเมริกัน อังกฤษ ไนจีเรีย นิวซีแลนด์ เม็กซิโก แสดงว่าได้ผลในทุกเชื้อชาติ และผักผลไม้ก็น่าจะเป็นไปตามท้องถิ่นนั้นๆ ตามฤดูกาล
กระนั้นต้องย้ำว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ถึงแม้ควรต้องทำในคนที่มีความดันสูงทุกราย แต่คนที่มีความดันที่ตั้งตัวได้แล้ว คือสูงแบบจริงจัง แถมยังมีโรคอื่นๆ รุมเร้า เบาหวาน ไต หัวใจ ควรต้องใช้ยาตั้งแต่ต้นเลย ร่วมกับการปรับอาหาร-พฤติกรรม เพราะกว่าจะปรับตัวทำใจได้กับผักผลไม้ยืนพื้นอาจหัวใจวายไปก่อนได้