พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกประกาศกรุงเทพมหานคร (กทม.)เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่49) โดยระบุว่าด้วยได้มีการประกาศใช้ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่41) ลงวันที่ 8มกราคม 2564 โดยที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในหลายประเทศทั่วโลกได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจาก
ปรากฎกรณีไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) ที่สามารถแพร่กระจายได้เร็วและมีโอกาส
ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวมากขึ้นเป็นลำดับแม้ว่าจะได้มีการฉีดวัคชีนครอบคลุมกลุ่มประชากรในประเทศเป็นจำนวนมากแล้วก็ตาม แต่สัดส่วนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ยังมีจำนวนไม่มากพอและอาจเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบสาธารณสุขหากเกิดการระบาดรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุขที่ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จึงจำเป็นต้องกำหนดนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าว
โดยการปรับพื้นที่สถานการณ์ และปรับปรุงมาตรการป้องกันและควบคุมโรคเพิ่มเติมจากข้อกำหนดและคำสั่งที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้า ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้บรรดามาตรการควบคุมแบบบูรณาการข้อห้าม ข้อยกเว้น และข้อปฏิบัติ สำหรับพื้นที่สถานการณ์ระดับต่างๆ รวมทั้งมาตรการเตรียมความพร้อมตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 37) ลงวันที่ 30ตุลาคม 2564 ได้แก่ การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรค กิจกรรมการรวมกลุ่มของบุคคลที่สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต การปฏิบัติงานนอกสถานที่ของเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่าง ๆ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการจำแนกตามพื้นที่สถานการณ์ และมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
รวมถึงบรรดามาตรการ หลักเกณฑ์ หรือแนวปฏิบัติที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดดังกล่าวยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป และปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้ดำเนินการตามมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพื่อการเปิดสถานที่ กิจการ และกิจกรรมสำหรับพื้นที่สถานการณ์ที่จำแนกเป็นเขตพื้นที่เฝ้าระวัง ตามที่ได้กำหนดไว้ในข้อ 6 (5) และข้อ 8 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 37)ลงวันที่ 30ตุลาคม 2564 และให้คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครหรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดแล้วแต่กรณี พิจารณากำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่
ผู้ร่วมกิจกรรม และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามที่ระบุไว้ในประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง สั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว (ฉบับที่ 49) ลงวันที่ที่29พฤศจิกายน 2564 ต่อเนื่องไปอีก จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ให้ดำเนินการ
1.ร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ตามเวลาปกติ โดยอนุญาตให้มีการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านได้เฉพาะร้านที่ผ่านการตรวจประเมินตามมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย (Amazing Thailand Safety and Health Administration)ในระดับ SHA PLUS ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หรือตามมาตรฐานความสะอาดปลอดภัยป้องกันโรค COVID - 19 รองรับสุขภาพดีวิถีใหม่ (Thai Stop Covid 2 Plus)ของกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย แล้วเท่านั้น และให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอส์ในร้านได้ไม่เกินเวลา 21.00นาฬิกา
2. สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะที่ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขแล้ว
และประสงค์จะปรับรูปแบบของสถานที่ดังกล่าวเพื่อการให้บริการในลักษณะที่เป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มให้ขออนุญาตต่อสำนักงานเขตพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของสถานที่ บุคลากร และการจัดการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคที่กำหนด และต้องได้รับอนุญาตภายในวันที่ 15 มกราคม2565 ก่อนเปิดให้บริการได้ภายใต้การกำกับติดตามของพนักงานเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
การให้บริการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการในรูปแบบเป็นร้านจำหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มตามวรรคหนึ่ง ต้องดำเนินการตามมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ด้วยผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 51
ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือมาตรา 52 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แล้วแต่กรณี และอาจมีความผิดตามมาตรา 18แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่งเนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา 30วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ประกาศกรุงเทพมหานครฉบับใดขัดหรือแย้งกับประกาศนี้ ให้ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2564 เป็นต้นไป