รู้จักก่อนสาย “ASF” ไวรัสร้ายพิฆาตสุกร

09 ม.ค. 2565 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ม.ค. 2565 | 16:42 น.

ASF หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ไวและส่งผลร้ายแรงในสุกร นอกจากแพร่กระจายได้ในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกแล้ว หากพบการระบาดในประเทศใด ความน่ากลัวก็คือการกำจัดโรคทำได้ยาก เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และไม่มียารักษา มักต้องทำลายสุกรยกฟาร์ม

ขณะที่ประชากรโลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ เชื้อไวรัส โควิดสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่น่ากังวลไม่ว่าจะเป็นเดลต้า หรือ โอมิครอน แต่ในประชากรหมู หรือ สุกร โรคร้ายจากไวรัสที่น่ากลัวสำหรับพวกเขาคือ ASF (African Swine Fever) หรือ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งกำลังสร้างความหวาดหวั่นในประเทศไทยเช่นกัน เพราะถึงแม้โรคนี้จะไม่ระบาดจากสุกรสู่คน แต่มันทำให้ปริมาณสุกรวูบหายจากตลาดได้อย่างรวดเร็ว เพราะนอกจากเชื้อไวรัสนี้จะทำให้สุกรตายลงเกือบ 100% หากติดเชื้อ การป้องกันความเสี่ยงของการระบาดยังบีบให้เกษตรกรจำเป็นต้องกำจัดสุกรทั้งเล้าหรือทั้งฟาร์มเพื่อตีกรอบการระบาดให้แคบที่สุด หากเกิดขึ้นแล้ว นั่นย่อมทำให้ปริมาณสุกรลดวูบ และราคาเนื้อสุกรก็จะพุ่งทะยานตามทันที เช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศจีน  

 

รู้จักโรค​ ASF​ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

ASF ย่อมาจาก​ African Swine Fever หรือ โรคอหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร​ เป็นโรคติดเชื้อรุนแรงในสุกรที่เกิดจากเชื้อไวรัส​ กลุ่ม​ Asfivirus เป็น​ DNA virus ที่มีความคงทนสูงในสภาพแวดล้อม​ โดยอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน​ และอยู่ในเนื้อสุกรแช่แข็งได้หลายปี ทั้งนี้ โรค ASF หรืออหิวาต์​แอฟริกา​ใน​สุกร​ ไม่ใช่โรคเดียวกับ​โรคอหิวาต์​สุกร​ หรือ​ Classical Swine​ Fever​ (CSF)​ ซึ่งเป็นโรค RNA virus ในสุกร​ และมีวัคซีนป้องกันได้ แต่ ASF ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน

รู้จักก่อนสาย “ASF” ไวรัสร้ายพิฆาตสุกร

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรค ASF​

​โรค ASF สามารถติดคนหรือสัตว์อื่นได้หรือไม่

โรค​ ASF ติดในสัตว์ประเภทสุกร​ เท่านั้น​ ทั้งสุกรเลี้ยง และ​สุกรป่า​ ไม่ติดคน และคนที่กินเนื้อสุกรที่เป็นโรคดังกล่าวนี้ ก็ไม่มีอันตรายจากโรคนี้ด้วย

 

สุกรติดเชื้อ​ ASF ได้อย่างไร

สุกรมักติดเชื้อ ASF​ จากการกินเศษอาหารที่มีเชื้อ​โรคเข้าไป และการสัมผัสเชื้อที่ปนเปื้อนมากับคน​ สิ่งของ​ รถขนส่ง​ และสัตว์พาหะ ซึ่งสัตว์พาหะที่สามารถนำโรคได้โดยตรง​ ได้แก่​ เห็บอ่อน​ ที่พบในทวีปแอฟริกาและยุโรปเท่านั้น​ ไม่พบในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานว่าเชื้อโรค ASF สามารถติดต่อกันได้โดยผ่านทางอากาศ

 

เชื้อ​ ASF​ อยู่ในสภาพแวดล้อมได้นานแค่ไหน

เชื้อโรค ASF มีความคงทนต่อสภาพแวดล้อม​ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ดังนี้

  • อยู่ในมูลสุกร​ และสิ่งแวดล้อม​ ได้​ประมาณ 1 เดือน
  • อยู่ในซากสัตว์ และในดินได้​ถึง 3​ เดือน
  • อยู่​ในเนื้อแปรรูป​ เนื้อแห้ง​ ได้​ถึง 1​ ปี
  • อยู่ในเนื้อแช่แข็งได้ถึง 3 ปี

 

เชื้อนี้ไม่ตายในกระบวนการผลิตอาหารแบบไม่สุก​ และอยู่รอดในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์

รู้จักก่อนสาย “ASF” ไวรัสร้ายพิฆาตสุกร

จะฆ่าเชื้อ​โรค ASF ได้อย่างไร

เชื้อโรค ASF​ สามารถตายด้วยความร้อน​ 60°C ใช้เวลาประมาณ 30 นาที​ และมีรายงานการทดสอบยาฆ่าเชื้อส่วนใหญ่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้ ตามอัตราส่วนที่บริษัทผู้ผลิตแนะนำ​ หรือโดยทั่วไปจะใช้ 1:200 เช่น​ Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine​ เป็นต้น​ โดยมีระยะเวลาหลังฆ่าเชื้อประมาณ​ 5-30​ นาที

 

อาการและรอยโรค​ ASF เป็นอย่างไร

สุกรที่ติดเชื้อจะมีอาการ​ไข้สูง​ จุดเลือดออก​ อาเจียน​ ถ่ายเป็นเลือด​ และตายเกือบ​ 100% โดยสุกรจะแสดงอาการหลังติดเชื้อประมาณ​ 3-4 วัน

รู้จักก่อนสาย “ASF” ไวรัสร้ายพิฆาตสุกร

โรค ASF มีการระบาด​ที่ไหนบ้าง​ ส่วนประเทศไทยมีโรคนี้ระบาดหรือไม่

พบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศเคนย่า​ ทวีปแอฟริกา​เมื่อปี พ.ศ. 2464 (จึงเป็นที่มาของชื่อ ASF)​ ปัจจุปัน มีการระบาดแพร่ไปยังทวีปยุโรปและทวีปเอเชีย สำหรับทวีปเอเชีย​ พบการระบาดครั้งแรกที่จีน​เมื่อเดือน​สิงหาคม 2561 จากนั้นก็ได้แพร่ออกไปสู่มองโกเลีย​ เวียดนาม​ กัมพูชา​ และล่าสุดที่ประเทศเกาหลีเหนือ รวม​ 5 ประเทศ​ ​

 

ประเทศไทย​ ยังไม่มีรายงานการระบาดของโรค ASF กรมปศุสัตว์ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องของโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก กรมปศุสัตว์จึงได้มีการกำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อโรค ASF กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที โดยการทำลายสุกรซึ่งอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าสุกรที่ป่วยเป็นโรค ASF​

สามารถวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการและรอยโรค​ และทดสอบด้วยวิธี ASF Rapid test โดยหยดเลือดสดลงบน Testkit แล้วอ่านผล​ ส่วนการยืนยันผลควรใช้วิธี ASF-ELISA สำหรับตรวจภูมิคุมกัน ซึ่งจะให้ผลบวกเมื่อสุกรติดเชื้อไปแล้ว​มากกว่า 7-14วัน​ และวิธีตรวจ ASF-PCR สำหรับตรวจเชื้อไวรัสในกระเเสเลือดและเนื้อเยื่อในร่างกาย​สุกร ซึ่งจะให้ผลบวกเมื่อสุกรติดเชื้อไปแล้ว​มากกว่า 3​ วัน​

 

โรค ASF มียารักษาและวัคซีนป้องกันหรือไม่

ปัจจุบัน​ยังไม่มียารักษาและวัคซีนป้องกัน​ ขณะนี้มีนักวิทยาศาสตร์กำลังทดลองเกี่ยวกับยาต้านไวรัส​ และวัคซีน​ป้องกันโรค ASF ในหลายๆ ประเทศ​ เช่น​ สเปน​ จีน​ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเกาหลีใต้​ ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลากว่าจะประสบความสำเร็จ

 

เราจะมีวิธีการป้องกันและควบคุมโรค​ ASF ได้อย่างไร

การป้องกันโรค ASF สามารถทำได้ 3 ระดับ​ดังนี้

  1. การป้องกันโรคระหว่างประเทศ​ (International biosecurity)​ การห้ามนำเข้าเนื้อและวัตถุดิบจากประเทศที่เกิดโรค​ การตรวจโรคจากผลิตภัณฑ์ที่สนามบิน​ ทางเรือโดยสาร​ ตามด่านทางการเข้า-ออกระหว่างชายแดน​ ไม่ให้นำเนื้อและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศที่มีการระบาดเข้าประเทศไทย​ เป็นต้น
  2. การป้องกันโรคภายในประเทศ​หรือระหว่างฟาร์ม​ หรือจากหน่วยงานภายนอกฟาร์ม (External biosecurity)​ เช่น​ โรงงานอาหารสัตว์​ โรงฆ่าสัตว์​ บริษัทยาสัตว์​ บริษัทอุปกรณ์เลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
  3. การป้องกันโรคระดับฟาร์ม​ (Farm biosecurity)​ ฟาร์มหมูที่มีระบบป้องกันโรคที่ดีต้องปฏิบัติตาม​ 10 ข้อห้าม​ และ 10 ข้อปฏิบัติ​ ในการป้องกันโรค ASF เช่น​ การไม่นำเศษอาหารเลี้ยงสุกร การอาบน้ำเปลี่ยนชุดเข้าฟาร์มของพนักงาน​ การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่ง​ การล้าง​พ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือน​ การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ​ เป็นต้น

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร การลดความสูญเสียจากการระบาดของโรคในระยะยาว มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจ ดำเนินการค้นหาและสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุการระบาดของโรคสุกร และขอความร่วมมือเกษตรกรให้ความสำคัญในการดูแลสุกรของตนอย่างใกล้ชิดให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และให้ความสำคัญในเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม มีคอกคัดสัตว์เพื่อขายแยกจากฟาร์มเพื่อป้องกันพ่อค้าที่รับซื้อสุกรอาจนำเชื้อมาสู่ฟาร์ม ขอให้หมั่นสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงของตน หรือฟาร์มใกล้เคียง

 

 “หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อหน่วยงานดังกล่าว หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ (สคบ.) กรมปศุสัตว์ หรือ call center 063-225-6888 หรือแจ้งผ่านแอปพลิเคชัน DLD 4.0 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวฝากทิ้งท้าย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานปศุสัตว์เขต 7 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์