วิจัยกรุงศรี โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้เผยแพร่บทความแนวโน้มธุรกิจและอุตสาหกรรมไทยปี 2565-2567 โดยในตอนหนึ่งได้วิเคราะห์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยและชิ้นส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยผู้ผลิตรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ผู้แทนจำหน่าย(ดีลเลอร์)ผู้ประกอบการรถมือสอง ผู้ผลิตชิ้นส่วน โดยเนื้อหารายละเอียดบทความ การวิเคราะห์ทั้งหมดจะมีอะไรบ้าง แนวโน้มธุรกิจจะเติบโตหรือไม่ เช็คข้อมูลทั้งหมดที่นี่
แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ปี 2565-2567
การผลิตรถยนต์ของไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปี โดยคาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะเริ่มมีทิศทางดีขึ้นหลังการฉีดวัคซีนครอบคลุมจำนวนประชากรมากขึ้น ปัญหาขาดแคลนแรงงานบรรเทาลง และปัญหาขาดแคลนชิปน่าจะเริ่มคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565
ยอดขายในประเทศมีแนวโน้มขยายตัว 3.0-5.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ตามภาวะเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคดีขึ้น
โดยความต้องการรถยนต์เพื่อการพาณิชย์จะขยายตัวดี อานิสงส์จากการขยายตัวของภาคก่อสร้าง ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ และโลจิสติกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังมีแผนเปิดตัวรถรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน
ปริมาณส่งออกรถยนต์จะเติบโต 5.0-7.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 4.0-6.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าฟื้นตัว ตลอดจนการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วม (MRA) ในภูมิภาคอาเซียนเกี่ยวกับผลตรวจสอบและรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของยานยนต์และชิ้นส่วนจะช่วยลดขั้นตอนการถูกตรวจสอบซ้ำ
นอกจากนี้ คาดว่าโอกาสส่งออกไปยังตลาดฟิลิปปินส์จะเพิ่มขึ้น (ตลาดส่งออกอันดับสาม สัดส่วน 7.1% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ปี 2563) เนื่องจากโรงงานผลิตรถยนต์ทยอยปิดตัวอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ (ดีลเลอร์)
รายได้ของธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ใหม่ช่วง 3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัว โดยการจำหน่ายรถยนต์ใหม่จะเติบโตตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ระดับ 3.0-5.0% ในปี 2565 และ 4.0-6.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567 ส่วนปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วนฯสำคัญสำหรับการผลิตรถคาดว่าจะคลี่คลายช่วงครึ่งหลังปี 2565
ด้านรายได้จากศูนย์ซ่อมบำรุงและจำหน่ายอะไหล่มีแนวโน้มหดตัวตามการลดลงของจำนวนรถยนต์จดทะเบียนสะสมอายุน้อยกว่า 5 ปี แม้จะมีความต้องการซ่อมบำรุงรถยนต์ตามอายุ/ระยะทาง แต่ยังมีความเสี่ยงจากผู้ใช้รถบางส่วนอาจเปลี่ยนไปใช้บริการจากอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป
นอกจากนี้ ธุรกิจยังได้รับแรงกดดันจากนโยบายของค่ายรถยนต์ เช่น ให้ตัวแทนจำหน่ายลงทุนปรับปรุงโชว์รูมและศูนย์บริการให้ได้มาตรฐานจึงเป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการ
ผู้จำหน่ายรถยนต์มือสอง แนวโน้มปี 2565-2567
ยอดขายรถยนต์มือสองมีแนวโน้มเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยคาดว่าราคารถยนต์มือสองอาจปรับขึ้นได้บ้าง เนื่องจากอุปทานรถยนต์เก่าเข้าสู่ตลาดน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้ใช้รถบางส่วนยืดอายุการใช้งานในภาวะเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน
ทั้งนี้ คาดว่าผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นตามการขยายธุรกิจของบริษัทข้ามชาติและบริษัทในเครือของค่ายรถ ส่งผลให้ภาวะการแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรง และอาจกดดันผลประกอบการของธุรกิจซึ่งส่วนใหญ่เป็น SME
รถจักรยานยนต์แนวโน้มปี 2565-2567
ยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในประเทศปี 2565 มีแนวโน้มเติบโต 2.0-4.0% และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปีในปี 2566 และปี 2567 ปัจจัยหนุนจากภาครัฐทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น หนุนแรงงานรากหญ้าซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักมีกำลังซื้อเพิ่ม
ด้านตลาดส่งออกคาดว่าปริมาณจะเติบโต 4.0-6.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น ประกอบกับผู้ผลิตแบรนด์ “ดูคาติ” ทยอยขยายกำลังการผลิตในไทยภายในปี 2567 เป็น 1.8 หมื่นคันต่อปี จากเดิม 1.2 หมื่นคันต่อปี เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่เติบโตต่อเนื่อง (ปัจจุบันดูคาติผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 90% ของปริมาณการผลิตในไทย) ส่งผลให้ปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์จะเติบโต 2.0-4.0% ในปี 2565 และเติบโตเฉลี่ย 3.0-5.0% ต่อปี ในปี 2566 และปี 2567
ชิ้นส่วนยานยนต์ แนวโน้มปี 2565-2567
การผลิตและความต้องการชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศจะเติบโตต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาด OEM ที่คาดว่าจะขยายตัวตามปริมาณการผลิตยานยนต์ ขณะที่ตลาด REM จะเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณยานยนต์สะสม โดยเฉพาะยานยนต์ที่มีอายุมากกว่า 5 ปีที่มีอยู่มากกว่า 26 ล้านคัน ซึ่งมีความต้องการซ่อมแซม/เปลี่ยนชิ้นส่วนฯ ตามอายุการใช้งาน โดยเฉพาะความต้องการชิ้นส่วนสำคัญที่มีมูลค่าสูง เช่น ระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน เป็นต้น
ส่วนการส่งออกชิ้นส่วนฯ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราชะลอลงตามปริมาณจำหน่ายรถยนต์ทั่วโลก ซึ่ง Euromonitor คาดว่าจะเติบโต 14% ในปี 2565 (หดตัว 16% ปี 2564) 8% ปี 2566 และ 2% ปี 2567
เนื่องจากราคารถยนต์มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องยนต์เพื่อลดมลพิษ และกระแสความนิยมใช้รถยนต์ร่วมกัน ทำให้ความต้องการซื้อรถยนต์น้อยลง โดย Euromonitor คาดว่าธุรกิจบริการรถยนต์ Shared mobility หรือ Mobility as a service จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ในช่วงปี 2565-2567 ผู้ให้บริการรายสำคัญ อาทิ Uber Lyft และ Grab
ที่มาข้อมูล: วิจัยกรุงศรี โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)