1 ส.ค. 2561
โรคระบาดจากไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกร เกิดขึ้นครั้งแรก จากสาธารณรัฐประชาชนจีน พบการระบาดของเชื้อ “ASF” และมีแนวโน้มการแพร่กระจายในวงกว้าง ทั้งเกาหลีรวมทั้งประเทศไทยตรวจพบสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกา (ASF) ในสุกรจากผลิตภัณฑ์สุกรที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนําติดตัวเข้าประเทศ
... เม.ย. 2562
พบการระบาดในผู้เลี้ยงรายย่อย ซึ่งระบุว่าเป็นโรคพีอาร์อาร์เอส (PRRS) กรมปศุสัตว์ ปฏิเสธมาโดยตลอดว่า “ยังไม่พบการระบาด ASF ในไทย” ยืนยันไทยยังคงปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาหมู แต่ด้วยลักษณะอาการของโรคทั้งเพิร์ส และอหิวาต์แอฟริกาในหมู คล้ายคลึงกันและอัตราการเสียชีวิตใกล้เคียงกัน อาจทำให้เกิดความสับสน
15 พ.ย. 2562
ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กระทู้ถามสด นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯต่อปมการแพร่ระบาดอหิวาต์แอฟริกาในหมู ว่าหากมีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในประเทศไทยโดยที่ไม่มีการเตรียมความพร้อม ในการป้องกันโรคเข้าฟาร์ม การเฝ้าระวังโรคที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงมาตรการควบคุมโรคจะก่อให้เกิด ความเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 125,000 ล้านบาท โดยไม่รวมผลกระทบภายหลังจากโรคสงบแล้ว
มิ.ย.-ก.ย. 2564
เริ่มระบาด ที่ จ.สระแก้ว และได้ลุกลามเข้ามาในพื้นที่ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง หนักสุดก็ฟาร์มหมู จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของไทย และเพชรบูรณ์ ภาคอีสาน นครพนม ฟาร์มหมูเหล่านี้ ทะยอยป่วย ตาย โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งกลุ่มผู้เลี้ยงหมูในประเทศกำลังเผชิญปัญหาต้องทิ้งหมูจำนานมาก ขาดรายได้สาหัส
22 ธ.ค. 2564
ไต้หวันพบเชื้อ ASF ในพัสดุ “กุนเชียงหมู” จากไทย ซึ่งกรมปศุสัตว์ปฏิเสธอีกครั้งว่า เป็นการนำเข้าเนื้อหมูจากเขตระบาดที่ไม่ใช่ไทย
28 ธ.ค. 2564
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงถึงกรณีเนื้อหมูปรับราคาแพงขึ้นว่า มีสาเหตุมาจากปัจจัยเรื่องต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีปัจจัยเรื่องการพบโรคระบาดในหมู
* 31 ธ.ค. 2564
ปศุสัตว์ได้ชี้แจงกรณีที่มีข่าวว่ามีผู้ซื้อตับหมูจากห้างแห่งหนึ่งมาปรุงให้สุนัขทาน แล้วสุนัขเกิดอาการป่วยรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาหนักแน่นว่ามีการควบคุมการระบาดมาตลอด ยัน ไทยไม่พบหมูป่วยโรคอหิวาต์แอฟริกา
5 ม.ค. 2565
ระบุว่า ปริมาณหมูในปี 2564 ลดลงจากปี 2563 จากที่ผลิตได้ปีละ 20 ล้านตัว ลดลงเหลือ 19 ล้านตัว ซึ่งส่งออกไปต่างประเทศ 1 ล้านตัว คงเหลือบริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว กรมปศุสัตว์ชี้ไม่ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมยืนยันว่ายังไม่พบการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย และให้เหตุผลว่าสาเหตุที่หมูตายนั้น เพราะป่วยเป็นโรคเพิร์ส ( PRRS) หรือโรคระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจของสุกร ซึ่งไม่ร้ายแรงเท่า ASF
7 ม.ค. 65
ไทยรัฐพลัส รายงานเอกสารประทับตรา เป็นสำเนาเอกสารแจ้งผลการชันสูตรซากหมูที่ตาย ซึ่งตรวจชันสูตรโดยห้องแล็บของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ในปี 2564 เอกสารระบุชัดว่า ตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF)
ซึ่งหลังทราบผลชันสูตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่กรมปศุสัตว์จะไม่ทราบว่ามีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแพร่ระบาดในประเทศไทย
8 ม.ค. 65
สำนักข่าว รอยเตอร์ เผยแพร่คำยืนยันจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
11 ม.ค. 2565
อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงพบ ASF ครั้งแรก ในสุกรจากโรงฆ่าจังหวัดนครปฐม เร่งสอบหาแหล่งที่มาย้ำชัดไม่แพร่ระบาดติดต่อสู่คน ผู้บริโภคทานเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย
กว่าจะรับก็สายไปแล้ว เพราะตอนนี้ได้กลายเป็นเรื่องระดับชาติ ที่ส่งผลกระทบไปในหลายๆเรื่อง ทั้งการบริโภค และส่งออก ด้านคนในอุตสาหกรรมเลี้ยงหมูพูดคุยกัน คือ เหตุผลที่กรมปศุสัตว์ ภาครัฐไม่อยากยอมรับว่ามีโรคนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย อาจเพราะไม่อยากรับผิดชอบความเสียหาย ไม่อยากชดเชยเงินแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู