ศบค.เผยผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 ราย เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

17 ม.ค. 2565 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2565 | 15:05 น.

ศบค.เผยผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 รายในไทย เป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว โดย 1 รายไม่มีประวัติการได้รับวัคซีน พร้อมเปิดไทม์ไลน์

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. แถลงข่าว ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 17 มกราคม 2565 ช่วงหนึ่งถึงกรณีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนมี 2 รายแรกของไทยว่า เป็นเพศหญิงทั้งคู่ ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ และมีโรคประจำตัว โดยมีรายหนึ่งที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม ส่วนอีกรายไม่ได้รับวัคซีน 

รายแรก หญิงไทย อายุ 86 ปี อาศัยอยู่ที่จังหวัดสงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียง และอัลไซเมอร์ ได้รับวัคซีนไฟเซอร์แล้ว 2 เข็ม จาก รพ.นาหม่อม ประวัติเสี่ยง คือ หลานชายที่เดินทางกลับมาจากจังหวัดภูเก็ต เป็นผู้ป่วยยืนยันโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน 

 

ไทม์ไลน์ มีดังนี้

 

  • วันที่ 6 ม.ค. 65 ผู้ป่วยมีไข้ มีเสมหะ ทราบข่าวลูกสาวตรวจพบเชื้อโควิด, หลานสาวผู้ป่วยตรวจหาเชื้อด้วย ATK ผล positive จึงส่งต่อเข้ารับการรักษาที่ รพ.หาดใหญ่
  • วันที่ 7 ม.ค.65 ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในที่ รพ.หาดใหญ่ แพทย์เก็บตัวอย่าง NPS ส่งตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ รพ.หาดใหญ่ ผลพบเชื้อโควิด โดยผู้ป่วยมีไข้ 38.5 องศา ไอ หายใจลำบาก แพทย์รับไว้ที่แผนก CICU เอ็กซเรย์ปอด พบปอดอักเสบ แพทย์จ่ายยา Dexamethasone และ Remdesivir
  • วันที่ 12 ม.ค.65 ผู้ป่วยเสียชีวิต เวลา 09.20 น. ส่งตัวอย่างตรวจยืนยันสายพันธุ์ ผลพบเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอน

ศบค.เผยผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 ราย เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

 

รายที่สอง เพศหญิง อายุ 84 ปี ภูมิลําเนา อําเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี โรคประจําตัว มะเร็งที่ปอดระยะสุดท้าย รักษาแบบประคับประคอง ใส่ออกซิเจน cannular 5 Lpm 

ประวัติการได้รับวัคซีน  : ไม่มีประวัติการได้รับวัคซีน 

ประวัติเสี่ยง : เป็นผู้ป่วยติดเตียง ครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19

 

ไทม์ไลน์ มีดังนี้

  • วันที่ 9 ม.ค.65  ตรวจหาเชื้อโควิด 19 ด้วยวิธี RT-PCR เนื่องจากเป็น HRC ของลูกชาย (รายที่ 21745)
  • วันที่ 10 ม.ค.65 ผลตรวจ Detected โรงพยาบาลประสานเพื่อ Admit ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธการเข้ารักษาในโรงพยาบาล แพทย์ อนุญาติให้เข้าสู่ระบบ Home Isolation ตามความประสงค์ของผู้ป่วยและญาติ แพทย์ให้ start Favipiravir ตามแผนการรักษา และจัดเครื่องวัด อุณหภูมิร่างกายและออกซิเจนปลายนิ้ว โดยออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้ ซึ่งก่อนติดเชื้อโควิดลูกชายที่ดูแลแจ้งว่าค่าออกซิเจน ปลายนิ้วก็อยู่ระหว่างช่วงดังกล่าว ผู้ป่วยไม่มีเหนื่อย หายใจไม่หอบ
  • วันที่ 11-12 ม.ค.65  ออกซิเจนปลายนิ้วอยู่ระหว่าง 86-90% ไม่มีไข้ ไม่มีเหนื่อย หายใจไม่หอบ วันที่ 13-14 ม.ค.2565 : ผู้ป่วยรับประทานได้น้อยลง ไม่มีหายใจหอบ ไม่มีไข้ ออกซิเจนปลายนิ้ว 86-87%
  • วันที่ 15 ม.ค.65  ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อย หายใจหอบ ค่าออกซิเจนปลายนิ้ว <76% เปลี่ยนออกซิเจนจาก cannular เป็น mask c bag ให้ออกซิเจนปลายนิ้ว 90% ประสานผู้ป่วยนําส่งโรงพยาบาล แต่ญาติปฏิเสธการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล แพทย์ให้เพิ่ม favipiravir จาก 5 วันเป็น 10 วัน และเพิ่ม Morphine ให้เนื่องจากยาเดิมหมด เวลา 16.00 น. ผู้ป่วยตอบสนองได้น้อยลง หายใจหอบลึก และคลําชีพจรไม่ได้ หัวใจหยุดเต้น เสียชีวิตเวลา 19.45 น. รวมระยะเวลารักษา Home Isolation 6 วัน 

ศบค.เผยผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 ราย เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

 

พญ.อภิสมัย  กล่าวว่า   สำหรับสิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยร่วม คือ มีการสอบสวนโรคมีการสัมผัสใกล้ชิดจากญาติและบุคคลในครอบครัวที่ถือได้ว่าเป็นผู้เสี่ยง โดยทั้ง 2 รายในประวัติเป็นผู้ที่อยู่บ้านติดเตียง ไม่ได้เดินทางไปในที่ชุมชนหรือพื้นที่เสี่ยง ดังนั้นสิ่งสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุขเน้นย้ำ คือ การดูแลผู้สูงอายุต้องเว้นระยะห่าง สวมถุงมือและหน้ากากอนามัยด้วย

 

ศบค.เผยผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน 2 ราย เป็นผู้สูงอายุ-มีโรคประจำตัว

 

 พญ.อภิสมัย กล่าวถึงคำแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน ขอให้แยกพื้นที่จากผู้อื่น เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร หมั่นทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อยๆ หากกรณีมีผู้ดูแล ขอให้ใช้ผู้ดูแลเพียงคนเดียว โดยควรเป็นคนที่อยู่ติดบ้าน ติดต่อคนภายนอกน้อยที่สุด สวมหน้ากากอนามัย ถุงมือทุกครั้งที่พยาบาลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย สำหรับผู้สูงอายุที่หายใจลำบาก หรือช่วยตนเองไม่ได้ ไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยให้