นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คพ. ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ได้จัดเสวนา เรื่อง ความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด (Clean Air Act)เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 เพื่อให้เกิดมุมมองในการร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคการเมือง ได้แก่ นายศุภชัย ใจสมุทร นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ดร.พิมพ์รพี พันธุ์วิชาติกุล และนายนิติพล ผิวเหมาะ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ ซึ่งจากการที่ประเทศไทยประสบปัญหาคุณภาพอากาศที่สำคัญคือฝุ่นละอองขนาดเล็ก ได้สร้างความตื่นตัวให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิด โดยได้การมีเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาด เพื่อนำไปสู่การมีสิ่งแวดล้อมที่ดี คุณภาพอากาศที่สะอาด และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม
สำหรับการประชุมเสวนาฯ ได้มีการนำเสนอเกี่ยวกับร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดฉบับที่ผ่านมา และฉบับที่กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็น ได้แก่ 1. สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ... โดยนายอนุวัตร ภูวเศรษฐ 2. ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ...โดยนายศุภชัย ใจสมุทร 3. ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อประชาชน พ.ศ... โดยนางสาวภาดาท์ วรกานนท์ 4. ร่าง พ.ร.บ. กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ…โดย ผศ.ธนาชัย สุนทรอนันตชัย 5. ร่าง พ.ร.บ. อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ…. โดยนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม และ 6. ข้อเสนอแนะในเชิงกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิในการหายใจอากาศสะอาด โดย ผศ.ดร.กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล
“คพ. จะนำผลการประชุมเสวนาฯ ตลอดจนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ไปใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพอากาศให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ นำไปสู่การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศอย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มีสิ่งแวดล้อมที่ดี คุณภาพอากาศที่สะอาด คุณภาพชีวิตที่ดี และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป”
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมารัฐบาลได้ประกาศแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง เมื่อปี 2562 พร้อมกับกระแสของพี่น้องประชาชนที่ให้ความสำคัญและตื่นตัวในเรื่องของ PM2.5 ภาครัฐได้มีการปรับและก็มีการยกระดับมาตรการมาโดยตลอด ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองภายใต้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งขาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน นอกจากนั้นแล้วภายใต้โครงสร้างคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีการตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งเป็นศูนย์ที่ทำงานในภาพรวมของรัฐบาลเป็นการทำงานบูรราการกับทุกกระทรวง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค แล้วเราก็จะมีแผนเฉพาะกิจในแต่ละปี มีการยกระดับในสิ่งที่ควรจะเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร การพยากรณ์ล่วงหน้าให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบทั้งในระดับพื้นที่ และระดับภูมิภาค เพื่อที่จะให้ช่วยกันดูแลและป้องกัน