นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า ตามที่ คพ. ได้รับรายงานผลการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนจากศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม, กรมทรัพยากรน้ำบาดาล, กรมชลประทาน, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ซลบุรี) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 - วันที่ 4 เมษายน 2564 ว่า
การประกอบกิจการโรงงานของบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคราม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดการรั่วไหลหรือแพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดินจนส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดินและไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16
เนื่องจาก ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำใต้ดินภายในโรงงานของบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคุณสมบัติทางเคมีของน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ที่เกิดการปนเปื้อนกากของเสียอุตสาหกรรม
นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินความเสียหายที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและค่าใช้จ่ายในกรณีนี้แล้วพบว่า มีค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูน้ำใต้ดินและอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมรวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,854,786,789.58 บาท ประกอบด้วย
1. ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูดินในบ่อรูปตัวแอลและบ่อยืมดิน
2. ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูน้ำในบ่อยืมดิน
3. ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูน้ำใต้ดิน ประมาณ 1.55 ล้านลูกบาศก์เมตร
4. ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประมาณ 1.97 ล้านลูกบาศก์เมตร
และ 5. ค่าใช้จ่ายของเจ้าหน้าที่ในการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อม และค่าใช้จ่ายในการตรวจวิเคราะห์ของห้องปฏิบัติการ
นายอรรถพล กล่าวว่า เพื่อให้การเป็นไปตามหลัก "ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย" ตามนัยมาตรา 96 และมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 คพ.ได้ส่งหนังสือถึงบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด และ กรรมการผู้มีอำนาจผูกพัน
ให้แสดงเจตนาที่จะรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในการฟื้นฟูเพื่อให้สิ่งแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพเดิม โดยขอให้แสดงเจตนาไปยัง คพ.ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ หากท่านเพิกเฉย คพ. มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทฯ ต่อไป