ข่าวดี นายจ้างเฮ “ แรงงานต่างด้าว ตามเอ็มโอยู” ทำงานต่อได้เลย

02 ก.พ. 2565 | 08:01 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.พ. 2565 | 15:13 น.

แก้ปัญหาแรงงานขาด “สุชาติ” แจ้งข่าวดี แรงงานต่างด้าวตาม เอ็มโอยู ที่จ้างงานครบ 4 ปี ในปี 65 กว่า แสนคน สามารถทำงานในไทยต่อ ไม่ต้องกลับประเทศ นายจ้างเฮ

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์

 

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า  นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมาย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ครั้งที่ 1/2565 ได้มีติเห็นชอบการดำเนินการเพื่อให้แรงงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ในปี 2565 สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไป โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ อย่างไรก็ดีจะต้องรอความยินยอมจากประเทศต้นทาง เนื่องจาก เอ็มโอยู นั้นเป็นสนธิสัญญา รูปแบบหนึ่ง

 

ซึ่งในเบื้องต้นผู้แทนทั้งสามประเทศ เข้าใจสภาพสถานการณ์ และไม่ขัดข้อง โดยจะมีหนังสือแจ้งให้ทราบผ่านช่องทางการทูตโดยเร็วที่สุด โดยคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตาม MoU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 106,580 คน เป็นแรงงานสัญชาติกัมพูชา 26,840 คน ลาว 25,504 คน และเมียนมา 54,236 คน ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

 

“ท่านสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความเข้าใจ และเห็นใจ นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่ใช้แรงงานต่างด้าวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 การดำเนินการตามขั้นตอนที่เคยปฏิบัติต้องเพิ่มความระมัดระวัง และเพิ่มขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของสาธารณสุข ทั้งฝั่งประเทศต้นทางและประเทศไทย ทำให้การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวภายในประเทศเกิดความไม่ราบรื่น และอาจส่งผลให้นายจ้าง/สถานประกอบการขาดแคลนแรงงานในการขับเคลื่อนกิจการ

อย่างไรก็ดีมาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น เพราะความปลอดภัยด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนภายในประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ต่างให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

 

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามบันทึกความตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ (MOU) จะได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานเป็นระยะเวลา 2 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก 2 ปี รวมแล้วเป็นระยะเวลาทั้งสิ้น 4 ปี ในภาวะปกติเมื่อครบกำหนดแล้วแรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้จะต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง หากต้องการกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกครั้งจะต้องดำเนินการนำเข้าแรงงานตาม MOU

 

ข่าวดี นายจ้างเฮ “ แรงงานต่างด้าว ตามเอ็มโอยู”  ทำงานต่อได้เลย

แต่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เมื่อขั้นตอนเดิมไม่สามารถดำเนินการได้ จึงมีการหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงแรงงาน มหาดไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ และสาธารณสุข โดยเห็นชอบในหลักการ การดำเนินการเพื่อให้แรงงานตาม MOU ที่วาระการจ้างงานครบกำหนด 4 ปี ในปี 2565 สามารถอยู่และทำงานได้ต่อไป

 

โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ ซึ่งทันทีที่ประเทศต้นทางตอบรับ เราก็พร้อมที่เสนอต่อครม. เมื่ออนุมัติ กระทรวงมหาดไทยจะออกประกาศ อนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อการทำงานอีก 6 เดือน นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุดลง เพื่อให้แรงงานต่างด้าวดำเนินการตามขั้นตอนจนได้ใบอนุญาตทำงานและสามารถอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมีขั้นตอน ดังนี้

 

1. ตรวจสุขภาพ เพื่อนำใบรับรองแพทย์ไปยื่นขออนุญาตทำงาน

 

2.ขออนุญาตทำงานต่อนายทะเบียน โดยกรมการจัดหางาน จะออกใบอนุญาตทำงานให้ตามระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี

ข่าวดี นายจ้างเฮ “ แรงงานต่างด้าว ตามเอ็มโอยู”  ทำงานต่อได้เลย

 

3.ขอรับการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อทำงาน ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด

 

4. จัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

 

ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการ และแรงงานต่างด้าว ติดตามข่าวสารจากกรมการจัดหางานอย่างใกล้ชิด ทาง www.doe.go.th/prd/ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694